บริษัทคลินิคจิต-ประสาท |
|
ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม การฆ่าตัวตายกับโรคซึมเศร้า (Suicide and Depression) นพ.พนม เกตุมาน ข่าวหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์รายวันที่เห็นได้บ่อยๆคือข่าวการฆ่าตัวตาย คนที่เป็นข่าวนี้บางทีเราไม่คาดคิด เพราะไม่ปรากฏสาเหตุกดดันจนน่าจะฆ่าตัวตายให้เห็นชัดเจน บางคนเป็นนักร้องมีชื่อเสียงแฟนเพลงมากมาย ชีวิตน่าจะมีความสุข บางคนมีหน้าที่การงานสูงส่ง ครอบครัวก็ไม่มีปัญหา เหตุใดจึงฆ่าตัวตาย ชีวิตน่าจะเป็นสิ่งที่น่าหวงแหน แต่หลายคนพยายามทำลายชีวิตตนเอง เรื่องการฆ่าตัวตายอาจจะใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ เป็นที่น่าสนใจไม่น้อยใช่ไหมครับ การฆ่าตัวตายนั้นในวิชาการจิตเวชศาสตร์มีความเห็นเป็นอาการอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดในหลายโรค เช่น บางคนมีปัญหาบุคลิกภาพ เวลามีปัญหาขัดใจกับใคร จะใช้วิธีทำร้ายตัวเอง เป็นการเรียกร้องความสนใจ บางคนเป็นโรคจิต มีเสียงแว่วสั่งให้ฆ่าตัวตาย แต่การฆ่าตัวตายที่พบบ่อยมากอีกประเภทหนึ่งเกิดจากโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางอารมณ์ที่ไม่ใช่โรคจิต ไม่ใช่โรคประสาท เป็นโรคที่การรักษาได้ผลดีมาก เวลาหายจะกลับเหมือนปกติ มีคนเป็นโรคนี้มาก องค์การอนามัยโลก เคยคาดคะเนว่าอีกไม่นานโรคซึมเศร้าจะก่อให้เกิดความสูญเสียมากเป็นอันดับสอง รองจากโรคหัวใจ ปัญหาคือคนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักโรคนี้ คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจึงไม่ได้รับการรักษา อาการสำคัญประการหนึ่งของโรคซึมเศร้าคือ การฆ่าตัวตาย การฆ่าตัวตายในคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะรุนแรง เพราะเจตนาต้องการจบชีวิตจริงๆ บางคนมีสัญญานบอกล่วงหน้า เช่นการเตรียมตัวตาย การฝากฝังลูกเมียกับคนใกล้ชิด การเขียนบันทึก หรือจดหมายลาตาย การพูดคุยกับคนใกล้ชิดซึ่งบางคนคิดว่าพูดเล่น การทำพินัยกรรมทั้งที่ยังอายุไม่มาก หรือการบริจาคร่างกายโดยไม่เคยมีเจตนาเช่นนี้มาก่อน สิ่งเหล่านี้พบได้เสมอเมื่อมีการสอบถามรายละเอียดหลังการฆ่าตัวตายสำเร็จ โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่วินิจฉัยไม่ยาก คนทั่วไปสามารถสังเกตได้ง่าย อาการสำคัญคือ อารมณ์ซึมเศร้า ซึ่งจะเริ่มจากน้อยๆ จิตใจไม่ร่าเริง ไม่สนุกสนาน ไม่แจ่มใสเหมือนเดิม ต่อไปจะหดหู่ เศร้าสร้อย ท้อแท้ หมดหวัง เบื่อไปหมดแม้กิจกรรมที่เคยชอบ เบื่ออาหาร ไม่รู้สึกอร่อยเหมือนเมื่อก่อน น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว นอนไม่หลับ หรือหลับตอนต้นแต่ไปตื่นตอนดึกๆจนถึงเช้ามืดแล้วไม่สามารถหลับต่อได้ ตอนเช้าอารมณ์จะซึมเศร้ามาก พอสายๆอาการจะดีขึ้น สมาธิเสียไม่สามารถจดจ่อกับกิจกรรมใดๆได้นาน จิตใจวอกแวก คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้วนเวียน วิตกกังวลง่าย ลังเล ขาดความมั่นใจตนเอง ความจำเสียไป ลืมโน่นลืมนี่ ความคิดและการพูดช้าลงมาก เหนื่อยหน่ายอ่อนเพลียไม่มีแรง ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากเจอใคร อยากอยู่เงียบๆคนเดียว รู้สึกตัวเองไม่ดี ทำอะไรผิดพลาด รู้สึกเป็นความผิดหรือความบกพร่องของตนเอง รู้สึกไร้คุณค่า เบื่อชีวิตและคิดอยากตาย อาการที่รุนแรงที่สุดของโรคนี้คือการฆ่าตัวตาย คนที่เป็นโรคนี้มักจะไม่ค่อยมีปัญหาใดๆมาก่อน การดำเนินชีวิตปกติ อาจมีความเครียดหรือปัญหาในชีวิตหรือไม่มีก็ได้ บางทีปัญหาไม่รุนแรงแต่ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะเอาไปคิดมาก โทษตัวเอง โรคนี้พบได้ตั้งแต่วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ วัยกลางคน จนถึงวัยทอง ความจริงเด็กก่อนวัยรุ่นก็เป็นโรคนี้ได้ แต่อาการอาจไม่เหมือนผู้ใหญ่ โรคซึมเศร้านี้รักษาได้ผลดีมากๆ เนื่องจากสาเหตุของโรคเกิดจาก การแปรปรวนของสารเคมีที่สมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ การใช้ยาจึงได้ผล แพทย์จะให้ยานานประมาณ ๖ เดือนถึง๑ปี แล้วจึงค่อยๆลดยาลงทีละน้อยจนหยุดยาได้ในที่สุด นอกจากการใช้ยาแล้ว การรักษาแบบจิตบำบัดแบบประคับประคองก็จะช่วยเสริมให้การรักษาได้ผลดี แพทย์จึงต้องนัดผู้ป่วยมาพบเพื่อพูดคุยกันเป็นระยะๆ แนะนำการปฏิบัติตัว แพทย์จะ ต้องพูดคุยกับญาติด้วยเพื่อสร้างความเข้าใจ และร่วมมือกันดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง บทบาทสำคัญของคนที่อยู่ใกล้ชิดผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าคือ การสังเกตอาการและช่วยดูแลเรื่องการกินยาให้สม่ำเสมอ บางทีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเห็นว่าตัวเองดีขึ้นแล้วเลยหยุดยาเอง อาการจะกลับเป็นอีก เวลาผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้ามากอาจไม่สนใจตัวเอง ไม่รีบมาหาแพทย์ คนใกล้ชิดจะช่วยได้โดยการรีบพามาพบแพทย์อย่างรวดเร็ว เราทุกคนอาจมีส่วนช่วยเหลือผู้ที่เพิ่งเริ่มมีอาการซึมเศร้าได้ ถ้าเห็นว่าคนใกล้ชิดเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ให้ลองถามอาการต่างๆของโรคซึมเศร้าข้างต้น ถ้ามีอาการมากกว่าครึ่งหนึ่งของอาการทั้งหมด ควรรีบแนะนำให้ไปพบจิตแพทย์โดยเร็ว การเริ่มรักษาเร็วจะช่วยให้อาการสงบเร็วและป้องกันการฆ่าตัวตาย การสอบถามถึงอาการอยากตายเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องทำในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทุกคน เมื่อสงสัยให้สอบถามลงลึกเป็นลำดับ ดังนี้ มีอารมณ์ซึมเศร้าหรือไม่ มีความรู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้หรือไม่ มีความรู้สึกเบื่อชีวิตหรือไม่ มีความรู้สึกอยากตายหรือไม่ มีความคิดฆ่าตัวตายหรือไม่ เคยพยายามฆ่าตัวตาย หรือไม่ เคยทำอย่างไร ถ้าไม่เคยทำ มีอะไรทำให้ยั้งใจไว้ได้ คนทั่วไปมักเข้าใจผิดคิดว่าการถามเรื่องการฆ่าตัวตายเป็นการกระตุ้นให้ผู้ที่ยังไม่ได้คิดเรื่องนี้มาคิดฆ่าตัวตาย แต่ความเป็นจริงคือ การถามไม่ได้เป็นการชี้นำ และถ้าเขาคิดจะทำอยู่แล้ว การถามและพูดคุยกันในเรื่องนี้จะทำให้เขาไม่กระทำจริงๆ คนที่เป็นโรคนี้แล้วฆ่าตัวตายสำเร็จมักมีลักษณะคล้ายๆกันคือ เป็นคนเงียบๆ ขรึม เวลามีปัญหา ไม่ค่อยปรึกษาใคร เป็นคนคิดมาก เครียดง่าย ไม่ค่อยผ่อนคลาย คาดหวังตนเองสูง เวลามีอาการซึมเศร้าจะรู้สึกหมดหวัง ไม่มีทางออก ปรับตัวยาก อาการจะรุนแรงจน รู้สึกว่าอยู่ไปอย่างนี้ไม่ไหว การตายจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด พูดง่ายๆคือถ้าเดิมมีปัญหาบุคลิกภาพอยู่ เวลาเป็นโรคซึมเศร้าจะมีอาการรุนแรงได้ง่าย รักษายาก และมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง ผมเคยมีคนไข้โรคซึมเศร้ามาพบที่โรงพยาบาล เป็นกำนันมีชื่อเสียงมากอยู่ใกล้กรุงเทพฯนี่เอง ท่านตัดบทความที่ผมเขียนเรื่องโรคซึมเศร้าลงในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งมาด้วยแล้วบอกผมว่า ท่านคงจะป่วยเป็นโรคซึมเศร็าแน่นอนเพราะมีอาการตรงกับบทความทุกข้อ เลยตัดสินใจมาหาเพราะผมเน้นในตอนท้ายว่าโรคนี้รักษาได้ จากการตรวจก็พบว่าท่านเป็นโรคซึมเศร้าจริง รักษาอยู่สามเดือนอาการหายจนเป็นปกติ ท่านก็ขอบคุณและบอกผมในตอนท้ายว่าถ้าวันนั้นไม่ได้เจอผม ท่านคงฆ่าตัวตายไปแล้ว เพราะอาการต่างๆที่เป็นนั้นทรมานมาก คิดอยากตายจริงๆโดยที่เมื่อหวนกลับมานึกภายหลังก็ไม่เข้าใจว่าคิดไปอย่างนั้นได้อย่างไร โรคนี้เมื่อหายแล้วมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้อีก การป้องกันที่ดีคือ การกินยาให้ยาวนานตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด การปรับเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่และการงานให้ไม่เคร่งเครียด การออกกำลังกายสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มมีอาการกลับเป็นอีกให้รีบมาพบแพทย์ทันที ปัจจุบันนี้พบแล้วว่าโรคซึมเศร้ามีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้นญาติพี่น้องของผู้ป่วยโรคนี้จึงมีโอกาสจะเป็นเช่นกันสูงกว่าคนทั่วๆไป การป้องกันที่เป็นไปได้คือ การส่งเสริมการเลี้ยงดูให้เด็กพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพดี สุขภาพจิตดี ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ ลงได้ นพ.พนม เกตุมาน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม
|
คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กทม 10300 โทร. 0-2243-2142 0-2668-9435
ส่งเมล์ถึง
panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
|