บริษัทคลินิคจิต-ประสาท

 ห้องรับแขก

กลับไป ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม      

 

 

 

การสัมภาษณ์วัยรุ่น

Interviewing Technic  in  Adolescence

ผศ. นพ. พนม  เกตุมาน 

บทนำ

การสัมภาษณ์วัยรุ่นมักเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ  เนื่องจากวัยรุ่นไม่ค่อยร่วมมือในการสร้างความสัมพันธ์และเปิดเผยข้อมูล แพทย์ที่สัมภาษณ์วัยรุ่น จึงควรมีความรู้และทักษะในการสัมภาษณ์ เริ่มจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นก่อนเสมอ  เมื่อวัยรุ่นร่วมมือ การเปิดเผยให้ข้อมูลต่างๆจะง่ายขึ้น  ช่วยให้แพทย์ผู้รักษาเข้าใจปัญหาได้ชัดเจน   และวัยรุ่นเองก็มีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหา   และร่วมมือในการช่วยเหลือในระยะต่อมา

เนื้อหาในเรื่องนี้เพิ่มเติมจากพื้นฐานวิธีการประเมินทางจิตเวชในเด็กและวัยรุ่น1  เน้นที่เทคนิคการสร้างความสัมพันธ์และสำรวจลงลึกในส่วนที่วัยรุ่นมีแตกต่างจากวัยเด็กและสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตนเอง  โดยใช้ทักษะการสื่อสารและการให้คำปรึกษา

 

การสร้างความร่วมมือในการสัมภาษณ์ 

การเข้าใจสาเหตุที่วัยรุ่นไม่ร่วมมือในระยะแรกๆของการสัมภาษณ์ ช่วยให้แพทย์ป้องกันการต่อต้านของวัยรุ่น  สร้างความสัมพันธ์  ปรับทัศนคติที่ดีต่อวัยรุ่น แก้ไขความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง  สร้างบรรยากาศของการรักษา(therapeutic relationship)  ทำให้วัยรุ่นเกิดความไว้วางใจ และร่วมมือเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น  ความสัมพันธ์ที่ดี  ความไว้วางใจ  ความเชื่อใจ เชื่อถือผู้รักษาตั้งแต่ครั้งแรกๆของการพบกัน  ช่วยให้วัยรุ่นยอมรับปัญหาของตนเอง และมีแรงจูงใจที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงตนเอง

สาเหตุที่วัยรุ่นไม่ร่วมมือ  ที่พบได้บ่อยๆ คือ

วัยรุ่นไม่ได้อยากมาด้วยตัวเอง บ่อยครั้งที่วัยรุ่นถูกบังคับให้มา  ถูกหลอกให้มา  เมื่อมาพบความจริงว่าถูกหลอก จะไม่พอใจ  ไม่ไว้ใจพ่อแม่  และไม่ไว้ใจแพทย์ด้วยเช่นกัน  การป้องกันปัญหานี้ทำได้ด้วยการเตรียมความพร้อมวัยรุ่นก่อนมาพบแพทย์  ควรบอกตามความจริง วัยรุ่นมักคิดว่าตนเองไม่ได้มีปัญหาทางจิตเวช  ดังนั้นจึงไม่ควรบอกว่าสาเหตุที่มาพบแพทย์นี้เนื่องจากปัญหาอยู่ที่วัยรุ่น แต่มาเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน ร่วมกันหาสาเหตุของความไม่เข้าใจกัน  และวางแผนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยกัน

โกรธพ่อแม่แล้วมาแสดงออกกับแพทย์ วัยรุ่นบางคนมีปัญหากับพ่อแม่มาตั้งแต่เด็ก ห่างเหินกันความสัมพันธ์ไม่ดี หรือมีเรื่องหงุดหงิดรุนแรงกันมาก่อน วัยรุ่นบางคนเมื่อเริ่มมีปัญหาจะก้าวร้าวรุนแรงมาก จนมีเรื่องมีราวกันในครอบครัวมานาน เมื่อความสัมพันธ์พื้นฐานกับพ่อแม่ไม่ดี  วัยรุ่นมักแสดงออกต่อผู้ใหญ่คนอื่นเหมือนกับที่แสดงกับพ่อแม่ด้วย แพทย์อาจถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกับพ่อแม่ ดังนั้นจึงไม่ควรคุยส่วนตัวกับพ่อแม่ก่อนคุยกับวัยรุ่น เพราะเขาอาจระแวงแพทย์ตั้งแต่แรก ปฏิกิริยาที่เขาแสดงออกคือไม่ร่วมมือ ยียวน หรือทดสอบท่าทีของแพทย์ ด้วยการไม่พูด ต่อต้าน ท้าทาย แพทย์ที่เข้าใจปฏิกิริยาของวัยรุ่นเช่นนี้ จะไม่โกรธและพยายามสร้างความสัมพันธ์อย่างสงบปราศจากอารมณ์ตอบโต้

วัยรุ่นบางคนถูกส่งมาพบแพทย์จากครู เขาก็อาจคิดว่าแพทย์เป็นพวกเดียวกับครูเช่นกัน  อาจไม่ไว้วางใจ หรือเกรงว่าแพทย์เปิดเผยข้อมูลที่คุยกันให้ครูรับทราบ

นิสัยเดิมไม่กล้าแสดงออก วัยรุ่นบางคนเก็บกด ไม่เปิดเผย ไม่กล้าเล่า กลัวถูกดุถูกว่า พ่อแม่ปลูกฝังว่าไม่ควรเล่าเรื่องในบ้านให้ใครฟัง วัยรุ่นไม่ค่อยเล่าอะไรให้คนอื่นฟังเพราะคิดว่าไม่ดี 

คิดว่าแพทย์ช่วยอะไรไม่ได้ ปัญหาในครอบครัวบางครั้งเกิดขึ้นมานานจนวัยรุ่นเกิดความท้อแท้ หมดหวัง คิดว่าคงไม่มีทางเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ การมาพบแพทย์ที่เขาไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย ไม่มั่นใจว่าแพทย์เข้าใจปัญหาในบ้านได้อย่างไร

กลัวการเปิดเผยข้อมูล  เรื่องบางเรื่องมีความไม่ถูกต้อง เป็นความผิด เช่น เรื่องแฟน เรื่องเพศ  การทำผิดกฎหมาย  การใช้ยาเสพติด เมื่อถูกถามวัยรุ่นมักลังเลใจ กลัวว่าแพทย์เอาไปเล่าให้พ่อแม่หรือตำรวจฟัง  กลัวว่าการเปิดเผยข้อมูลจะเป็นผลเสียต่อตนเอง  หรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

 

คำจำกัดความของการสัมภาษณ์

การสัมภาษณ์คือการสื่อสารระหว่างผู้สัมภาษณ์(แพทย์) และผู้ถูกสัมภาษณ์(ผู้ป่วยวัยรุ่น) เพื่อให้ได้ข้อมูลเพียงพอประกอบการวินิจฉัย และวางแผนการรักษา

 

วัตถุประสงค์การสัมภาษณ์ 

เมื่อการสัมภาษณ์เสร็จสิ้น  ผู้สัมภาษณ์

1.        ได้รับทราบข้อมูลเพียงพอเพื่อการประเมินทางจิตเวช

2.        เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยวัยรุ่น

 

เทคนิคที่ใช้ 2-3

เทคนิคการในการสัมภาษณ์วัยรุ่น ใช้การสื่อสารที่เป็นขั้นตอนดังนี้

1.        การเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

·        การจัดสิ่งแวดล้อม  ห้องตรวจควรความมิดชิด เป็นสัดส่วน ไม่มีเสียงรบกวน ไม่มีคนเดินผ่านไปมา บรรยากาศมีความสงบและเป็นกันเอง

·        ท่านั่ง  ควรเป็นลักษณะตั้งฉากกัน เยื้องกันเล็กน้อย ใกล้กันพอแตะไหล่ได้

·        ก่อนการเริ่มต้นสัมภาษณ์  ควรจัดลำดับการสัมภาษณ์ให้ดี  (ควรพบวัยรุ่นพร้อมพ่อแม่สั้นๆ  เพื่อทำความเข้าใจปัญหาเบื้องต้นก่อน  หลังจากนั้นขอสัมภาษณ์วัยรุ่นตามลำพัง)

·        เปิดการสนทนานำให้เกิดความผ่อนคลาย เป็นกันเอง(small talk)

 “มากันกี่คนครับ  เดินทางมาอย่างไร  รถติดหรือไม่  นั่งรอนานหรือไม่  อากาศเป็นอย่างไร...ฯลฯ”

·        แนะนำตัวเอง  สถานที่ วัตถุประสงค์ของการคุยกัน  ระยะเวลาที่คุยกัน

“หมอชื่อ........ เป็นจิตแพทย์ หรือแพทย์ที่ทำงานที่นี่”

“ห้องนี้เป็นห้องสัมภาษณ์  มีหมอและผู้ช่วยอีกหนึ่งคนเท่านั้น  ห้องนี้มีกล้องโทรทัศน์วงจรปิด แต่ขณะนี้หมอจะไม่ใช้   ถ้ามีการใช้เมื่อใดจะบอก  และขออนุญาตทุกคนก่อนทุกครั้ง”

“หมอขอคุยด้วยประมาณ  45  นาที ในช่วงแรกนี้ขอคุยกับทุกคนทั้งหมดสั้นๆก่อน  หลังจากนั้นจะขอคุยส่วนตัวกับ.....(ชื่อวัยรุ่น)ตอนหลัง”

“วันนี้มีใครมาบ้าง  ชื่ออะไรบ้าง หมอขอให้ทุกคนได้แนะนำตัว”

·        การสัมภาษณ์วัยรุ่น  แพทย์ควรแนะนำครอบครัวว่า  จะขอสัมภาษณ์วัยรุ่นตามลำพังด้วย  ถ้ามีสิ่งที่วัยรุ่นไม่กล้าเล่ากับพ่อแม่  เขามีโอกาสพูดได้อย่างสบายใจ และเป็นเรื่องปกติที่แพทย์ขอคุยกับวัยรุ่นตามลำพัง

“หมอขอคุยกับ.....   ตามลำพังสักครู่   หลังจากนั้นจะขอคุยกับพ่อแม่ในตอนท้ายอีกที”

·        การพบกับพ่อแม่ในช่วงสุดท้าย  เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมด และอาจมีสิ่งที่พ่อแม่อยากเล่าให้แพทย์ฟังเพิ่มเติมที่ไม่อยากเล่าต่อหน้าเด็ก ช่วงสุดท้ายเป็นโอกาสที่แพทย์สรุปผลที่ได้ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ และวางแผนการการช่วยเหลือต่อไป ก่อนจบควรเปิดโอกาสให้พ่อแม่ซักถาม

·        การใช้ภาษาพูด  น้ำเสียง  การเน้นคำ  การใช้ สรรพนาม  การทำความเข้าใจภาษาของวัยรุ่น 

·        การใช้ภาษากาย การสัมผัส สีหน้า ท่าทาง สร้างความอบอุ่น  เป็นมิตร  พยายามเข้าใจ  รับฟัง ไม่ตำหนิ อยากช่วยเหลือ  และเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด

 

 

2. การสำรวจลงไปในปัญหา หรือสาเหตุที่ทำให้ต้องมาพบแพทย์ 

                ในระยะแรกแพทย์ควรควรสังเกตท่าที  ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูลของวัยรุ่นว่า มีความเข้าใจในการมาพบแพทย์อย่างไร  มีความไว้วางใจแพทย์ หรือความพร้อมในการเปิดเผยตนเองเพียงไร    ควรพยายามให้วัยรุ่นผ่อนคลาย เป็นกันเอง  ไม่รู้สึกว่าแพทย์เป็นพวกเดียวกับพ่อแม่  และเน้นเรื่องการรักษาความลับก่อนการสำรวจลงลึกในประเด็นปัญหา 

 

การให้ความมั่นใจเรื่องความลับ(confidentiality)

ในระยะเริ่มต้นควรให้ความมั่นใจเรื่องการเก็บรักษาข้อมูลของวัยรุ่น  ด้วยการเน้นว่า  ข้อมูลที่พูดคุยกันตามลำพังนี้  ไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อวัยรุ่น

“หมอขอคุยกับหนูตามลำพัง  ถ้ามีข้อมูลที่หนูต้องการบอกหมอโดยไม่อยากให้พ่อแม่ทราบ  หมอก็ยินดี  และคงไม่เล่าให้พ่อแม่ทราบทั้งหมดว่าหนูเล่าอะไรบ้างกับหมอ”

                บางเรื่องเป็นเรื่องที่วัยรุ่นไม่กล้าเล่า  เช่นเรื่องแฟน  เพศสัมพันธ์  ยาเสพติด  หรือความผิดต่างๆ  ควรเน้นเรื่องการเก็บความลับเป็นระยะๆ ดังนี้

“เรื่องที่คุยกันนี้  หมอคงไม่บอกพ่อแม่หรือคนอื่นๆ  ถ้ามีเรื่องที่หมอจำเป็นที่ต้องบอกพ่อแม่  หมอจะบอกหนูก่อน”

                ในตอนท้ายของการสัมภาษณ์  หมออาจสรุปกับวัยรุ่นว่า

“หมอจะแจ้งพ่อแม่ว่าหนูเล่าให้ฟังอย่างนี้  .............................”  โดยระบุสิ่งที่น่าจะแจ้งพ่อแม่ได้ตามสมควร  ไม่ลงไปในรายละเอียดที่วัยรุ่นไม่อยากให้เล่าในระยะแรก

 

การถามความเข้าใจต่อการมาพบแพทย์ 

ในตอนต้นควรสอบถามถึงความเข้าใจถึงการมาพบแพทย์  มาได้อย่างไร  พ่อแม่บอกว่าอย่างไร  วัยรุ่นคิดอย่างไรในตอนแรก

“เมื่อสักครู่พ่อแม่เล่ามา  คิดอย่างไรบ้าง  มีตอนไหนที่ไม่เห็นด้วย  ไม่เป็นความจริง  บ้างหรือไม่  มีอะไรที่อยากเล่าเพิ่มเติมหรือไม่   .......  ตรงไหนอีกบ้าง”

 “ช่วยเล่าให้หมอฟังว่าเกิดอะไรขึ้น”

“เรื่องใดที่เล่าไม่ได้ ขอให้บอกหมอด้วย”

“เกิดอะไรขึ้น   ถึงได้มาพบหมอที่นี่”

                ส่วนใหญ่วัยรุ่นที่พ่อแม่พามามักตอบว่าไม่ทราบสาเหตุที่มา

“ถ้าไม่ทราบ  ลองเดาดูว่า เหตุใดพ่อแม่ถึงพามาพบหมอ”

“คิดว่าพ่อแม่เป็นห่วงเรื่องอะไร”

“หมอทราบจากพ่อแม่ว่า.....................  ..........คิดอย่างไรบ้าง”

“แล้วปัญหา(หรือเรื่องที่เกิดขึ้น)  ในความคิดของหนู   เป็นอย่างไร”

“มีอะไรที่พ่อแม่ไม่เข้าใจ   หรืออยากให้พ่อแม่เข้าใจอย่างไร  อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นในบ้านบ้าง”

 

การถามสำรวจ

                เมื่อวัยรุ่นเริ่มผ่อนคลาย  การสำรวจลงไปในปัญหา  โดยใช้คำถามลักษณะต่างๆ ดังนี้

คำถามปลายเปิด(open-ended question) เป็นคำถามที่มีคำตอบได้หลากหลาย มักใช้ในการสอบถามเบื้องต้น ในระยะแรกๆของการสัมภาษณ์  ที่ยังไม่แน่ใจว่าวัยรุ่นจะตอบอย่างไร ดังตัวอย่างต่อไปนี้

“อยากให้หมอช่วยเรื่องอะไร”

“เรื่องอะไรที่ทำให้ไม่สบายใจ”

“หนูกังวลเรื่องอะไร ” (อาจเปลี่ยนสรรพนาม  จาก “หนู” เป็นชื่อของวัยรุ่น)

 

การกระตุ้นให้เล่าเรื่อง(facilitation)

“หมอทราบเบื้องต้นมาบ้างว่า คุณพ่อคุณแม่รู้สึกเป็นห่วงที่หนู..................”

“ที่จริงคุณพ่อคุณแม่เล่าให้หมอฟังบ้างแล้ว แต่หมออยากฟังจากหนู(ชื่อ)เอง  ลองเล่าให้หมอฟังว่าเกิดอะไรขึ้น”

“พ่อแม่กังวลว่า................................”

“พ่อแม่อยากทำความเข้าใจปัญหา  จึงชวน......มาคุยกับหมอ”

“คิดอย่างไรบ้าง    รู้สึกอย่างไร     ยังโกรธพ่อแม่หรือไม่  เมื่อรู้เหตุผลอย่างนี้แล้ว”

“บางทีมันก็ยากที่จะเล่าเรื่องที่ค่อนข้างส่วนตัวอย่างนี้  เอาไว้สบายใจขึ้นค่อยเล่าก็ได้”

 

คำถามนำ (leading question) เป็นคำถามที่ส่งเสริมให้ตอบไปในทิศทางนั้น มักใช้ในกรณีที่วัยรุ่นลังเลที่จะตอบ เช่น

“เพื่อนเคยชวนให้ลองใช้ยาเสพติดเหมือนกัน  ใช่ไหม”

“ยาบ้านี่รสชาติเป็นอย่างไร  ลองแล้วชอบไหม”

 

การสำรวจลงลึก(exploration)

 “อะไรที่ทำให้รู้สึกหนักใจ กังวลใจ หงุดหงิดใจ”

“ถ้าเป็นไปได้ อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในบ้าน”

“อยากให้พ่อแม่เป็นอย่างไร”

“ปัญหาอื่นๆในบ้านละ  มีอะไรหนักใจหรือไม่”(ลองสำรวจในเรื่องอื่นๆ ในตอนท้าย เช่นเรื่องความสัมพันธ์ของพ่อแม่  ความสัมพันธ์กับน้อง หรือญาติคนอื่นๆ)

“วางแผนไว้อย่างไรบ้าง ระยะสั้น  ระยะยาว”

 

คำถามปลายปิด(close-ended question)  เป็นคำถามที่คาดหวังคำตอบว่า ใช่ หรือไม่ใช่ เท่านั้น ใช้ในกรณีที่ต้องการตรวจสอบว่า มีหรือไม่มีสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์สงสัยอยู่ ไม่ควรใช้ในช่วงแรกๆของการสัมภาษณ์ เพราะอาจปิดกั้นการเปิดเผยปัญหาที่แท้จริงของวัยรุ่น

“หนูรู้สึกไม่ค่อยสบายใจเรื่องการเรียนหรือไม่”

“หนูมีอาการนอนไม่หลับบ้างไหม”

 

เทคนิคช่วยสร้างความสัมพันธ์

                เทคนิคต่อไปนี้ช่วยสร้างความสัมพันธ์กับวัยรุ่น

แสดงทัศนคติที่ดีต่อวัยรุ่น (Positive attitudes)

ท่าทีที่ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี  คือท่าทีช่วยเหลือ(rapport)   ไม่ตัดสินผิดถูก (nonjudgemental attitude)  เป็นกลาง (neutral)  มีความเข้าใจ(understanding)  ยอมรับและมองวัยรุ่นในแง่ดี  (unconditional positive regard)  เห็นใจ (sympathy)  อยากช่วยเหลือด้วยความรู้สึกร่วม(empathy) 

 

แสดงสิ่งที่แพทย์จะช่วยเหลือได้ (Hope)  เช่น สร้างความเข้าใจกัน  การช่วยให้พ่อแม่เข้าใจ  ปรับเปลี่ยนวิธีการที่ทำไม่ถูก  การให้ความรู้พ่อแม่ให้เข้าใจวัยรุ่น  ตอบสนองความต้องการวัยรุ่นพอเหมาะ มีทักษะในการสื่อสารทางบวก 

เมื่อแพทย์ช่วยเหลือแล้ว  ผลดีที่ตามมา  คือ  ทั้งวัยรุ่นและพ่อแม่มีการปรับเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้น  ทำให้มีความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย

 

การสะท้อนความรู้สึก หรือความคิด  (Reflection of  feeling  or  thinking)

                การสะท้อนความคิด หรือความรู้สึก  เป็นการแสดงความเข้าใจวัยรุ่น  ช่วยให้เกิดบรรยากาศที่ดี  สร้างความสัมพันธ์อันดี  ใช้เมื่อวัยรุ่นเล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกด้านลบ  เช่น  เสียใจ  น้อยใจ  โกรธ ฯลฯ  ตัวอย่างได้แก่

“หนูรู้สึกเสียใจ  ที่พ่อเข้าใจหนูผิด”

หนูโกรธที่ครูดุหนูเช่นนั้น”

“หนูลำบากใจที่จะเล่าเรื่องนี้”

“ใครๆที่อยู่ในสภาพเดียวกับ...   คงจะทำใจยอมรับได้ลำบากเหมือนกัน”

 

คำถามสามเหลี่ยม (Triangular questions) 

                การถามถึงพฤติกรรม  และสำรวจลงลึกว่าวัยรุ่นมีพฤติกรรมนั้น  เกิดจากความคิดอย่างไร  ความเชื่ออย่างไร ( thinking, feeling, and behavior) เรียกว่าคำถามแบบ Triangular Questions  ช่วยให้เข้าใจจิตใจวัยรุ่นมากขึ้น  ในเรื่อง ความคิด  ความรู้สึก และพฤติกรรม ตัวอย่างคำถามเป็นดังนี้

กรณีวัยรุ่นหญิงถูกพ่อดุจนร้องไห้  ที่แอบติดต่อกับเพื่อนชาย

“หมออยากทราบว่าหนูร้องไห้  เรื่องอะไร” (ถามพฤติกรรม- behavior การร้องไห้)

“ตอนหนูร้องไห้  หนูรู้สึกอย่างไร”  (ความรู้สึก- feeling เช่น  เสียใจ  น้อยใจ โกรธ)

“หนูคิดอย่างไร  ในขณะนั้น” (ความคิด – thinking  เช่น  พ่อไม่ไว้ใจ พ่อแม่เข้าใจผิด)

 

การให้วัยรุ่นได้ระบายความรู้สึก(Ventilation)

เมื่อวัยรุ่นร้องไห้ ในขณะสัมภาษณ์  ไม่ต้องตกใจ  ให้แสดงท่าทียอมรับ  รอให้หยุดร้อง และให้กำลังใจด้วยประโยคที่แสดงความเข้าใจ และยอมรับ  หรือสะท้อนความรู้สึก

“หนูเสียใจที่เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น”

“การร้องไห้บางทีก็ช่วยระบายความทุกข์ใจไม่สบายใจ  ทำให้ใจสบายขึ้น”

เมื่ออารมณ์ดีขึ้น  สงบใจได้  ลองพยายามสำรวจปัญหาต่อไป  ถ้าทำได้

“หนูพอจะคุยกันต่อได้หรือไม่”

 “หมออยากให้หนู  เล่าเรื่องที่เกิดขึ้น  เท่าที่พอเล่าได้  ช่วยให้หมอเข้าใจเหตุการณ์ดีขึ้น”

 

สรุปความ (Summarization)  ทำความเข้าใจร่วมกัน  เมื่อวัยรุ่นเล่าเรื่องราวไปสักระยะหนึ่ง  ดังนี้

“จากที่หนูเล่ามา  ปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่ง คือคุณแม่ไม่ค่อยเข้าใจความต้องการของหนู”

“ความโกรธทำให้หนูตอบโต้ไปด้วยอารมณ์”

“หลายครั้งที่หนูก็ทำอะไรด้วยอารมณ์  แต่ก็มาคิดเสียใจทีหลัง”

 

แปลความหมาย (Interpretation) แพทย์สร้างความเชื่อมโยงให้วัยรุ่นเข้าใจพฤติกรรมตนเอง  ความสัมพันธ์ระหว่างความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรม

“เวลาโกรธพ่อแม่ หนูก็แกล้งดื้อ  ให้พ่อแม่หงุดหงิด”

“บางทีหนูโกรธพ่อแม่  แต่มาลงกับน้อง”

 

การชมเชย (Positive reinforcing)  คือการให้รางวัล  เมื่อเกิดพฤติกรรมที่ดี อาจเป็นคำชม

“หมอคิดว่าเป็นการดีมาก   ที่หนูอยากจะเข้าใจตัวเอง   .......อยากแก้ไขเปลี่ยนแปลง”

“หมอดีใจที่หนูเปิดเผยอย่างละเอียด  ทำให้หมอเข้าใจหนูมากขึ้น”

 

การสำรวจในพฤติกรรมเสี่ยง (Risk-taking behavior)

                เมื่อได้ข้อมูลเพียงพอเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคแล้ว  แพทย์ควรสอบถามถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น  ตามหัวข้อ  HEEADSSS ต่อไปนี้

1.        H – Home  ครอบครัว  ที่อยู่อาศัย  ชุมชนแวดล้อม ความปลอดภัยในบ้าน

2.        E – Education/Employment  การเรียน  การทำงาน  เป้าหมายอาชีพและความหวังในชีวิต

3.        Eating – พฤติกรรมการกิน มากหรือน้อยเกินไป  ไม่ถูกสุขลักษณะ  ขาดอาหาร ผอมเกินไปหรือเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกิน

4.        Activities and  friends – กิจวัตรประจำวัน  การออกกำลังกาย  งานอดิเรก กิจกรรมที่สนุกและเพลิดเพลินคลายเครียด เพื่อนและเพื่อนสนิท  กิจกรรมที่ทำร่วมกัน  พฤติกรรมเสี่ยงในกลุ่มเพื่อน 

5.        Drugs abuse – การลองใช้ยาเสพติด  การใช้เหล้าบุหรี่ หรือยาอื่นๆที่แพทย์มิได้สั่ง 

6.        Sexual activities – พฤติกรรมทางเพศ  ความพึงพอใจทางเพศ(sexual orientation) เอกลักษณ์ทางเพศ(sexual identity) พฤติกรรมรักร่วมเพศ การมีเพศสัมพันธ์  การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  การป้องกันการตั้งครรภ์ 

7.        Safety/violence/abuse  พฤติกรรมเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ  และความรุนแรง  การป้องกันอุบัติเหตุในการใช้ยานพาหนะ(สวมหมวกกันน็อค,คาดเข็มขัดนิรภัย ฯลฯ)  การชกต่อยใช้อาวุธ  การพกพาอาวุธ ความรุนแรงในครอบครัว การทารุณกรรม  การละเมิดทางเพศ

8.        Suicidal idea  ความรู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้ เบื่อชีวิต  ความคิดอยากตาย  การพยายามฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเอง

 

การสำรวจเรื่องเอกลักษณ์วัยรุ่น(Self and Identity)

                แพทย์ควรสอบถามวัยรุ่นในเรื่องเอกลักษณ์ของเขา  ได้แก่  ความชอบ ความถนัด  การเรียน กีฬา  การใช้เวลาว่าง  การคบเพื่อน   อาชีพ  จุดเด่นหรือข้อดีของตนเอง  ความรู้สึกต่อตนเอง  ความภาคภูมิใจในตนเอง  เป้าหมายในอนาคต  ความต้องการส่วนตัว  และแนวทางการดำเนินชีวิต

 

3.สรุปและเลือกประเด็นที่สำคัญร่วมกัน  ที่จะทำงานร่วมกัน

การเลือกประเด็นที่สำคัญ และวัยรุ่นยอมรับ  เลือกเรื่องที่น่าสนใจ มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต  การเรียนหรือการทำงาน และตั้งวัตถุประสงค์ร่วมกัน   ว่าจะทำอย่างไรบ้าง  ซึ่งน่าเป็นประโยชน์สำหรับวัยรุ่นด้วย  ได้แก่

·        เรื่องที่วัยรุ่นรู้สึกว่าเดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลือ เช่น อาการทางร่างกายจากความเครียด

·        เรื่องที่วัยรุ่นอยากให้เปลี่ยนแปลง  เช่นความสัมพันธ์ภายในบ้านที่ไม่ค่อยดี  การยินยอมให้ในสิ่งที่วัยรุ่นต้องการ  เช่น เวลาไปกับเพื่อน  เงิน  โทรศัพท์

“หนูคิดว่าเรื่องใดที่น่าหาทางออก  ให้ได้ก่อน”

“หนูเคยคิดแก้ไข  เรื่องนี้อย่างไรแล้วบ้าง”

“หมออยากนัดหนูมาคุยกันต่อในเรื่องนี้  ดีไหม”

 

4.ตั้งเป้าหมายในการทำงานต่อไปด้วยกัน

เมื่อผู้สัมภาษณ์ได้ข้อมูลเพียงพอแล้ว ต่อไปคือการแก้ไขปัญหา โดยวิธีการ เป้าหมายร่วมกับวัยรุ่น ควรช่วยกันคิดและให้ออกมาเป็นความต้องการของวัยรุ่นจริงๆ และควรครอบคลุมประเด็นหลักๆของปัญหา

 การแก้ไขต่อไปจะเกิดในด้านต่างๆ คือ

·        การเปลี่ยนแปลงของตนเอง เช่น สังเกตอารมณ์ตนเองให้มากขึ้น  มีการจัดการกับอารมณ์ได้ดี  ควบคุมตัวเองได้ ยั้งใจตัวเองได้มากขึ้น  จัดระเบียบวินัยของตัวเอง เอาใจใส่เรื่องส่วนตัวมากขึ้น รับผิดชอบส่วนรวมมากขึ้น

·        สร้างแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตนเอง

“หมอคิดว่า  ถ้าหนูแสดงความตั้งใจ  คุณพ่อคุณแม่คงไว้วางใจมากขึ้น  การขออนุญาตไปกับเพื่อนน่าจะง่าย”

·        ให้ความหวังและโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น  มองด้านบวกทั้งต่อวัยรุ่นและพ่อแม่

“หมอจะช่วยอธิบายให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจความต้องการของวัยรุ่นมากขึ้น  แต่หนูช่วยหมอได้มากถ้าทำให้พ่อแม่ไว้ใจ เช่น การรักษาคำพูด  ถ้าเราพยายามแล้วพ่อแม่ยังไม่เปลี่ยนแปลง  ขอให้กลับมาเล่าให้หมอฟังด้วย”

·        อธิบายสิ่งที่จะวางแผนร่วมกับพ่อแม่(clarification)

“ต่อไปหมอจะคุยกับพ่อแม่ สิ่งที่หมอจะทำคือ อธิบายให้ท่านเข้าใจว่า....................  และช่วยให้ท่านยืดหยุ่นกับหนูบ้างเช่น อาจอนุญาตให้ไปกับเพื่อนได้ในวันหยุด แต่หนูต้องบอกพ่อแม่ก่อนในเรื่องรายละเอียด เช่น ไปที่ไหน กับใคร เวลาใด กลับเมื่อไร  ฯลฯ”

“หมอยังไม่แน่ใจว่าสามารถพูดให้พ่อแม่เปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน  แต่เท่าที่คุยกับเขาแล้ว ก็เห็นว่าเขาน่ารับฟังหมอบ้าง แต่นิสัยใจคอคนนี้เปลี่ยนแปลงทันทีคงยาก คงต้องทดลองดู ให้โอกาสพ่อแม่เปลี่ยนแปลง  ถ้าไม่สำเร็จเรากลับมาคุยกันใหม่”

 

5.การช่วยกันแก้ไขในทางปฏิบัติ (Working through)

เป็นกระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลง คิด ตัดสินใจ ฝึกฝนตนเอง เพื่อให้แก้ไขปัญหา สร้างสิ่งใหม่ มักเกิดขึ้นในระยะเวลาต่อมา หลังจากมีความสัมพันธ์ดี ผู้ให้คำปรึกษาใช้เทคนิคต่างๆที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระยะยาว ขั้นตอนนี้มักใช้เวลานานพอสมควร จนกว่าจะบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

ในการสัมภาษณ์วัยรุ่นครั้งแรก ไม่ควรพยายามแก้ไขเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ได้ทันที การให้คำแนะนำที่เร็วเกินไปนอกจากจะไม่ได้ผล วัยรุ่นมักไม่เชื่อทันทีแล้ว อาจรบกวนความสัมพันธ์ที่เป็นเป้าหมายหลักของการสัมภาษณ์ในระยะแรก เนื่องจากวัยรุ่นอาจรู้สึกว่าแพทย์ทำตัวเหมือนพ่อแม่ หรือครูของเขา  อาจใช้วิธีการกระตุ้นให้คิด หาทางออกด้วยตัวเองก่อน  ดังนี้

“หนูเคยลองแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร”

“ลองทำแล้วได้ผลอย่างไร”

“ลองช่วยกันหาทางออกเรื่องนี้ดีไหม  หนูคิดว่าควรทำอย่างไร”

“วิธีการนี้  มีข้อดี  ข้อด้อยอย่างไร”

 

6.การสรุปและยุติการสัมภาษณ์หรือการให้คำปรึกษา(Termination)

ในการสัมภาษณ์ทุกครั้ง  การยุติการสนทนาในตอนท้ายการสัมภาษณ์  มีความสำคัญมากเช่นกัน ในการ

·        สรุปสิ่งที่ได้คุยกัน 

·        การวางแผนต่อไปว่าจะทำอะไร 

·        ตอบคำถามถ้ามีข้อสงสัย

·        กำหนดการนัดหมายการพบกันครั้งต่อไป 

การยุติการสัมภาษณ์ได้ดีช่วยให้วัยรุ่นร่วมมือมาติดตามการให้คำปรึกษา  และให้ร่วมมือในการให้ข้อมูลเพิ่มเติมหรือ ร่วมมือในการรักษาต่อไป

การสัมภาษณ์ครั้งแรกไม่จำเป็นต้องให้ได้ข้อมูลครบ บางเรื่องอาจต้องรอให้วัยรุ่นเกิดความไว้วางใจ และเปิดเผยในครั้งต่อๆไปได้

 

สรุป

                การสัมภาษณ์ทางจิตเวชสำหรับวัยรุ่น ต้องการทักษะในการสร้างความสัมพันธ์ การสื่อสาร เพื่อให้ได้ข้อมูลเพียงพอสำหรับการวินิจฉัยโรค และวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับวัยรุ่น เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการสัมภาษณ์ และร่วมมือในการช่วยเหลือทางจิตใจต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

1.        นงพงา ลิ้มสุวรรณ. การตรวจทางจิตเวชในเด็ก. ใน: เกษม ตันติผลาชีวะ, บรรณาธิการ. ตำราจิตเวชศาสตร์ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เล่ม 2, 2536:695-707.

2.        Lewis M. Psychiatric assessmentof infants, children and adolescants. In : Lewis M, ed. Child and adolescent psychiatry : Williams and Wilkins, 1983 : 447-63.

3.        Geldard D. In: Basic personal counselling: a training manual for counsellors. 3rd Edition.Prentice Hall.Sydney. 1998.

 

<ห้องรับแขก

  คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล  เขตดุสิต  กทม 10300  โทร. 0-2243-2142  0-2668-9435

   ส่งเมล์ถึง panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
   ปรับปรุงแก้ไขครั้งล่าสุด:21/05/50