บริษัทคลินิคจิต-ประสาท

 ห้องรับแขก

กลับไป ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม      

 

 

 

ภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย

ผศ. นพ. พนม เกตุมาน  สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ 

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

นักเรียนบางคนที่เผชิญเหตุการณ์สึนามิด้วยตัวเอง  และสูญเสียพ่อแม่ญาติพี่น้องหรือคนรู้จักที่ผูกพันด้วย  อาจมีอาการซึมเศร้า และถ้ามีมากอาจถึงฆ่าตัวตายได้

อาการซึมเศร้าอาจเกิดหลังเหตุการณ์ ไม่นาน  หรือมาเริ่มเกิดภายหลัง  ในขณะที่ความสับสนวุ่นวายในชุมชนเพิ่มมากขึ้น   หรือเกิดหลายเดือนหลังเหตุการณ์ก็ได้

อาการซึมเศร้ามักประกอบด้วยอาการหลายอย่างได้แก่ 

1.     อารมณ์ไม่สดชื่นร่าเริงแจ่มใส 

2.     เบื่อหน่ายท้อแท้ ขาดความสุข 

3.     เบื่ออาหาร  น้ำหนักลด  ในวัยรุ่นอาจกินมากเพื่อคลายเครียด

4.     นอนไม่หลับ  หรือหลับได้ตอนหัวค่ำ  แต่จะตื่นตอนตอนดึกๆ  แล้วหลับต่อได้ยาก 

5.     สมาธิสั้นวอกแวกง่าย  ความจำเสีย รบกวนการเรียน  ทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง

6.     ความคิดและการเคลื่อนไหวช้าลง  

7.     หมดแรงเหนื่อยหน่าย   ไม่อยากทำอะไร  ไม่อยากเจอผู้คน  ไม่อยากเรียนหรือเล่น

8.     หมดความสนใจในทุกเรื่อง  แม้แต่เรื่องที่เคยชอบก็ไม่อยากทำ

9.     คิดว่าตนเองเป็นภาระให้ผู้อื่นลำบาก  คิดว่าตนเองไร้ค่า 

10. คิดว่าตนเองผิด  เบื่อชีวิต  คิดอยากตาย  คิดฆ่าตัวตายได้ 

ในเด็กบางทีอาการเหล่านี้อาจเห็นไม่ชัดเจน  ในวัยรุ่นอาการอาจมีเพียงหงุดหงิดฉุนเฉียว  อารมณ์แปรปรวนแตกต่างไปจากเดิม   ก้าวร้าวเกเร  พฤติกรรมจะเปลี่ยนแปลงๆไปจากเดิมมาก  ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจกลายเป็นเรื้อรัง  มีผลต่อการเรียน หรือพัฒนาการบุคลิกภาพในระยะยาว

ความสูญเสียชีวิต  ทรัพย์สิน  และโอกาสต่างๆ  เป็นเหตุกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้า  แต่ในเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้ดูแลเหมือนเดิม  ขาดความรักความอบอุ่น  อาจเป็นเหตุให้เด็กซึมเศร้าได้  หลังเหตุการณ์สึนามิ  เด็กจึงต้องได้รับการเอาใจใส่ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นการป้องกันปัญหาทางอารมณ์ในเด็ก

 คนใกล้ชิดสามารถช่วยคนที่ซึมเศร้า  ด้วยการอย่าปล่อยให้แยกตัวอยู่คนเดียว ชวนคุย  ชวนให้เล่าความทุกข์ในใจ  ชวนให้มีกิจกรรม  มีเพื่อน  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  เล่นกีฬา ใช้กิจกรรมกลุ่ม  และฝึกจิตใจให้สงบ  จะช่วยรักษาอารมณ์ให้ดีขึ้น     

โรคซึมเศร้านี้มิใช่โรคจิตโรคประสาท  มียากินรักษาหายได้เหมือนเดิม เกิดได้ทั้งในเด็ก  วัยรุ่น  หรือผู้ใหญ่   ถ้าพบว่าใครมีอาการข้างต้นหลายข้อ  แสดงว่าเป็นโรคซึมเศร้า   ควรแนะนำให้พบจิตแพทย์ หรือบุคลากรสุขภาพจิตทันที

 

ผศ.  นพ.  พนม  เกตุมาน

โครงการฟื้นฟูสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นที่ประสบธรณีพิบัติภัย ในโรงเรียน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา  สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

<ห้องรับแขก

  คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล  เขตดุสิต  กทม 10300  โทร. 0-2243-2142  0-2668-9435

   ส่งเมล์ถึง panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
   ปรับปรุงแก้ไขครั้งล่าสุด:21/05/50