บริษัทคลินิคจิต-ประสาท

 ห้องรับแขก

กลับไป ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม      

 

 

 

 

การช่วยเหลือเวลาเด็กกลัวและหลีกเลี่ยงสถานการณ์

ผศ. นพ. พนม เกตุมาน  สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ 

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

        ความกลัวที่ยังมีอยู่ในนักเรียนที่ประสบภัยพิบัติ  ได้แก่ความกลัวสถานที่ที่เกิดภัยพิบัติ  เช่น  ชายหาด  หรือบ้านที่เกิดเหตุ  บางคนไม่กล้าไปในสถานที่ที่กลัว  หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องเกี่ยวข้องกับสถานที่นั้นๆ  พ่อแม่บางคนยังกลัวเช่นกัน  จึงห้ามลูกไม่ให้ไปในบางสถานที่  เช่น ชายทะเล  การหลีกเลี่ยงจากสถานที่ดังกล่าวทำให้ไม่เกิดอาการ  แต่ความผิดปกติจริงๆยังคงมีแฝงอยู่  เช่น  ความวิตกกังวล  การขาดความมั่นใจตนเอง  ไม่สามารถทำในสิ่งที่เมื่อก่อนทำได้ ถ้าไม่ได้แก้ไข  จะติดตัวจนเป็นเรื้อรัง  และรบกวนต่อการดำเนินชีวิต  การเรียน  และบุคลิกภาพระยะยาว

หลักการช่วยเหลือ  ให้เข้าหา  และเผชิญกับสิ่งที่กลัว  ทีละน้อย  เอาชนะอาการด้วยตัวเอง  ไม่ส่งเสริมให้หลีกเลี่ยง

การแนะนำนักเรียน  เป็นขั้นตอน  ดังนี้

1.    อธิบายว่าความกลัวที่เกิดขึ้น  เป็นเรื่องธรรมดา  เกิดขึ้นกับผู้ประสบภัยเช่นนี้ได้  อาจเป็นยาวนาน

2.    อาการนี้รักษาได้  หายได้  จนไม่กลัวกลับไปเผชิญสถานที่กลัวได้ดังเดิม 

3.    การรักษาทำได้ด้วยการฝึกเผชิญด้วยตนเอง  เป็นขั้นตอน  เริ่มจากน้อยไปหามาก  จากง่ายไปยาก

4.    ให้นักเรียนเล่าว่าตนเองกลัวอะไร  เช่น  ชายหาด  สถานที่เกิดเหตุ 

5.    ให้จัดลำดับว่ากลัวอะไรมาก  อะไรน้อย  กลัวแล้วเกิดอาการอย่างไร  เช่น  ใจเต้น  แค่นอก  เหงื่อออก  มือสั่น  และหลีกเลี่ยงสิ่งที่กลัว

6.    อธิบายว่าอาการของความกลัว  แสดงออกเป็นอาการทางร่างกาย  และนักเรียนสามารถควบคุมอาการนี้ได้  ด้วยการฝึกคลายเครียด  และนำไปใช้เวลาเผชิญสิ่งที่กลัว 

7.    ฝึกการคลายความเครียด ด้วยวิธีฝึกการกำหนดหายใจ  ดังนี้  ให้นักเรียนหลับตา  กำหนดใจให้นิ่งติดตามลมหายใจเข้าออกอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา  ถ้าเผลอคิดไปเรื่องอื่นที่ไม่ใช่การหายใจ  ให้ดึงกลับมาที่ลมหายใจตลอดเวลา  ประมาณ  10  นาที  ใจจะสงบลง  ให้ฝึกทุกวัน  วันละ  10  นาทีก่อนนอน

8.    ให้นักเรียนคิดถึงสิ่งที่ทำให้กลัว  เมื่อรู้สึกกลัวหรือมีอาการ  ให้กำหนดลมหายใจ  แบบที่ฝึกมาจนสงบลงด้วยตัวเอง  ทำซ้ำๆหลายๆครั้งจนไม่เกิดความกลัวเมื่อนึกถึงเรื่องนั้น

9.    เมื่อสงบแล้ว  ให้นักเรียนคิดถึงสิ่งที่กลัวมากขึ้น  ที่ยังทำให้เกิดอาการกลัวได้  แล้วฝึกเอาชนะด้วยการกำหนดลมหายใจ  จนสงบด้วยตัวเอง  ทำซ้ำๆหลายๆครั้งจนไม่เกิดความกลัวเมื่อนึกถึงเรื่องนั้น

10.           ฝึกเอาชนะความกลัวในจินตนาการเช่นนี้  จนไม่มีอาการเกิดขึ้นเลยไม่ว่าจะคิดถึงเรื่องใดๆที่เคยกลัว

11.           ฝึกเอาชนะความกลัวโดยการเผชิญสถานที่  เลือกสถานที่กลัวน้อยที่สุด  เข้าไปในที่นั้น  เมื่อเกิดอาการกลัว  ให้กำหนดลมหายใจ  จนสงบลงด้วยตัวเอง  ทำซ้ำๆ  จนไม่เกิดความกลัว

12.           เคลื่อนที่เข้าไปในที่ที่กลัวมากขึ้น  และใช้วิธีการเดียวกัน  จนในที่สุดสามารถเอาชนะความกลัวได้จนหมดแม้สถานที่ๆกลัวมากที่สุด

ประโยชน์อื่นๆที่เกิดขึ้นจากการฝึก

1.    อาการทางร่างกายและจิตใจอื่น  ของความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตรายจะดีขึ้นด้วย

2.    สมาธิ  ความจำ  จิตใจ  อารมณ์ จะกลับเข้าสู่ปกติเร็วขึ้น

3.    ผลการเรียนดีขึ้น

4.    ปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ต่างๆลดลง

คำแนะนำเพิ่มเติม  การฝึกกำหนดลมหายใจ  ควรปฏิบัติทุกวันต่อไป  แม้อาการจะหายแล้ว จะช่วยให้จิตใจแข็งแรง  มีสมาธิ  และนำไปใช้เวลาเผชิญความกลัว  หรือความเครียดอื่น  ในชีวิตประจำวันได้

 

ผศ.  นพ.  พนม  เกตุมาน

โครงการฟื้นฟูสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นที่ประสบธรณีพิบัติภัย ในโรงเรียน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา  สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

<ห้องรับแขก

  คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล  เขตดุสิต  กทม 10300  โทร. 0-2243-2142  0-2668-9435

   ส่งเมล์ถึง panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
   ปรับปรุงแก้ไขครั้งล่าสุด:21/05/50