บริษัทคลินิคจิต-ประสาท

 ห้องรับแขก

กลับไป ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม      

 

 

 

การอธิบายให้นักเรียนเข้าใจอาการที่เกิดขึ้นหลังสึนามิ

ผศ. นพ. พนม เกตุมาน  สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ 

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

ครูควรอธิบายนักเรียน  ถึงอาการต่างๆที่เกิดหลังเหตุภัยพิบัติสึนามิ  นักเรียนบางคนที่เผชิญเหตุการณ์สึนามิด้วยตัวเองอาจมีอาการต่อไปนี้ 

  1. คิดวนเวียนถึงเหตุการณ์นั้น
  2. ฝันร้ายถึงเหตุการณ์นั้น  หรือฝันร้ายอื่นๆที่ใกล้เคียงกัน
  3. รู้สึกว่ากลับไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีก
  4. รู้สึกเครียดเวลานึกถึง พูดถึง หรือเผชิญสิ่งเร้าที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์
  5. มีอาการทางร่างกายตอบสนองเวลาเผชิญเหตุการณ์นั้นจริง หรือคิดถึง 
  6. หลีกเลี่ยงการคิด  ความรู้สึก การสนทนา ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์
  7. หลีกเลี่ยงกิจกรรม สถานที่ คน ที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์  เช่นไม่กล้าไปที่ชายหาด  หรือบ้านที่ประสบเหตุ  ไม่เดินทางในเส้นทางปกติเดินทางได้  เนื่องจากกลัวสถานที่บางแห่ง
  8. ไม่สามารถระลึกถึงจุดสำคัญของเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ประสบมา  เล่าเรื่องราวในวันนั้นไม่ได้
  9. ไม่สนใจร่วมกิจกรรมที่สำคัญ  ไม่สนใจการเรียน
  10. อารมณ์เฉยชาต่อผู้อื่น  ไม่สนุกสนานอยากทำอะไร
  11. ไร้อารมณ์ตอบสนอง   ไม่สนใจเพื่อน  ไม่อยากเล่น
  12. ไม่สนใจอนาคต  ไม่คิดว่าจะต้องทำอะไรต่อไป
  13. หลับยาก หรือตื่นง่าย
  14. หงุดหงิดง่าย  โกรธง่าย  โมโหง่าย  ก้าวร้าวกับเพื่อนหรือครู
  15. ขาดสมาธิ  ไม่ตั้งใจเรียน 
  16. จับจ้องระวังภัย  หวาดกลัวเรื่องเล็กน้อย  เช่นเสียงดัง  คอยเฝ้าระวังเสียงสัญญาณเตือนภัย
  17. อาการหวาดกลัวมากต่อสิ่งกระตุ้นเพียงเล็กน้อย

อาการต่างๆเหล่านี้  ไม่ใช่โรคจิตหรือโรคประสาท  เกิดขึ้นได้บ่อยแม้กับคนที่จิตใจเข้มแข็ง  เป็นปฏิกิริยาทางจิตใจ  อารมณ์  ที่เกิดขึ้นชั่วคราว  และส่วนใหญ่หายไปได้เอง  มีบางคนยังมีอาการอยู่นาน  แต่สามารถรักษาได้  การรักษาจะช่วยป้องกันปัญหาทางจิตใจอื่นๆที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง  และช่วยให้สามารถกลับไปเรียน  และดำเนินชีวิตได้อย่างเดิม 

ถ้าใครมีอาการหลายข้อและทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินชีวิต  จัดเป็นโรคทางจิตเวชที่เรียกว่า  ความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย 

แนะนำนักเรียนว่าถ้าเพื่อนบางคนมีอาการ  ควรช่วยเหลือเพื่อน  ดังนี้

  1. การแนะนำอย่างถูกต้อง  อาการนี้เกิดได้  ไม่ใช่โรคร้ายแรง
  2. ให้กำลังใจเพื่อน  อาการนี้แก้ไขให้หายขาดได้
  3. ชักชวนให้มีกิจกรรม  อย่าปล่อยให้แยกตัว
  4. ไม่ล้อเลียน  แกล้งเพื่อนที่มีความทุกข์  และช่วยห้ามเพื่อนที่ล้อเลียนด้วย
  5. แนะนำให้เพื่อนปรึกษาครู  พ่อแม่ หรือทีมสุขภาพจิต 
  6. แจ้งให้ครูทราบ

 

ผศ.  นพ.  พนม  เกตุมาน

โครงการฟื้นฟูสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นที่ประสบธรณีพิบัติภัย ในโรงเรียน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา  สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

<ห้องรับแขก

  คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล  เขตดุสิต  กทม 10300  โทร. 0-2243-2142  0-2668-9435

   ส่งเมล์ถึง panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
   ปรับปรุงแก้ไขครั้งล่าสุด:21/05/50