บริษัทคลินิคจิต-ประสาท

 ห้องรับแขก

กลับไป ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม      

 

 

ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม

ภาวะการณ์ปรับตัวผิดปกติ

(Adjustment Disorders)

นพ. พนม  เกตุมาน

     เมื่อเร็วๆนี้มีคุณแม่ท่านหนึ่งพาลูกสาวอายุ  8  ขวบ มาพบผมที่โรงพยาบาลด้วยปัญหาเรื่องลูกไม่ค่อยอยากไปโรงเรียน  หลังจากโรงเรียนเปิดเทอมไม่นานก็เริ่มมีอาการ   ตอนแรกๆก็ยินยอมไปโรงเรียนโดยดี  แต่พอผ่านไปสองสามสัปดาห์ลูกก็เริ่มบ่นเรื่องการเรียน  เรื่องเพื่อนใหม่ๆที่เกเรชอบล้อเลียน  ชอบแกล้ง  คุณครูคนใหม่ดุและทำโทษมาก  ตอนเช้าลูกไม่ค่อยยอมตื่นนอน  กว่าจะจัดการให้อาบน้ำแต่งตัวได้ใช้เวลานานมาก  จนคุณแม่อดโมโหไม่ได้  บางครั้งต้องดุเอ็ดตะโรเสียงดังหรือตีเข้าให้บ้าง  ซึ่งก็ได้ผลชั่วคราวเท่านั้น  ก่อนนอนลูกจะแสดงความกังวลล่วงหน้าชัดเจน  ขอไม่ไปโรงเรียนในวันรุ่งขึ้น   บางทีมีอาการปวดหัวปวดท้องร่วมด้วย  ซึ่งลูกก็ใช้อาการทางกายเหล่านี้เป็นเหตุที่จะขอไม่ไปโรงเรียน   ลองให้หยุดเรียนปรากฏว่าอาการต่างๆก็หายไป  เมื่อปีที่แล้วก็เคยมีอาการเช่นนี้ตอนเปิดเทอมใหม่ๆ  แต่เมื่อผ่านไปสามสี่เดือนการบ่นน้อยลง  ในที่สุดก็ไปเรียนได้ตามปกติ  ปีนี้ก็เป็นอีกเหมือนเดิม

     ปัญหาของเด็กคนนี้คือ อาการของความวิตกกังวลซึ่งเกิดขึ้นตามหลังเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  เรียกว่า  ภาวการณ์ปรับตัวผิดปกติ  หรือ  Adjustment Disorders  สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงนั้นถ้าจะว่าไป  ก็คือ ความเครียด  หรือ  Stressor  นั่นเอง  คนเราทุกคนจะต้องเผชิญกับความเครียดบ้าง  ไม่มากก็น้อย   ความเครียด เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้     ให้สามารถปรับตัวได้มากขึ้น  ได้เก่งขึ้น  เมื่อเจอปัญหาชีวิตภายหน้าก็จะปรับตัวได้   ปฏิกิริยาตามปกติที่เกิดขึ้นต่อตัวเราจากความเครียด  เรียกว่า  Adjustment Reactions  ใครจะปรับตัวได้มากน้อยอย่างไรขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ที่ผ่านมาตั้งแต่เด็ก   เด็กที่ปรับตัวเก่งมักจะเป็นเด็กที่มีพื้นอารมณ์ดี  ความรู้สึกต่อตนเองดี   อารมณ์มั่นคง  สติปัญญาดี    มีทักษะในการเจรจา แก้ปัญหา เข้ากับเพื่อนและคนอื่นได้  ขณะเดียวกันมีความระมัดระวังรอบคอบเอาตัวรอดได้  สรุปว่าต้องมีการผสมผสานกันระหว่าง ไอ คิว และ อี คิว  ให้ลงตัว   คำขวัญประจำโรงเรียนของลูกสาวผมเขียนไว้น่าชื่นชมมากว่า  “ ความสามารถในการปรับตัว  คือความสำเร็จของชีวิต”  ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง   เพราะสิ่งนี้  จะเป็นหลักประกันความสำเร็จ  ความสุข  และความดีในชีวิตให้กับทุกคน  ไม่ว่าเขาจะเรียนหนังสือเก่งหรือไม่ 

สาเหตุ

     ลองมาดูรายละเอียดของปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อการปรับตัว  ดีใหมครับ

    ปัจจัยแรก เป็นเรื่องของอารมณ์  คือ พื้นอารมณ์ดี อารมณ์มั่นคง

          สิ่งที่พ่อแม่ให้ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด  นอกจากรูปร่างหน้าตาผิวพรรณและลักษณะทางร่างกายภายนอกแล้ว  พื้นอารมณ์ก็เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่สู่เด็กด้วย  พื้นอารมณ์คือลักษณะจำเพาะของอารมณ์ของเด็กคนนั้น   สังเกตได้จากการตอบสนองทางอารมณ์  เวลาเด็กหิว  โกรธ  เครียด  เหนื่อย  ง่วง  เด็กบางคนจะร้องโวยวาย  แสดงออกมาก  บางคนจะสงบเสงี่ยมเรียบร้อย  ทำให้เด็กมีความน่ารัก และยากง่ายในการเลี้ยงดูไม่เหมือนกัน   ปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดของเด็กจึงแตกต่างกันตั้งแต่เกิดก็ว่าได้   คำพูดที่ว่าเด็กเหมือนผ้าขาวบริสุทธิ์เหมือนกันทุกคนจึงไม่จริง  เด็กอาจเกิดมาบริสุทธิ์เหมือนผ้าขาว  แต่เป็นผ้าต่างชนิดกัน  บางคนเป็นผ้าไหม สวยงามแต่บอบบาง  เวลาซักต้องนุ่มนวลทนุถนอม  บางคนเป็นผ้าใบ  แข็งแรงทนทาน  แต่ไม่ค่อยสวย รีดยากยับง่าย   เด็กที่พื้นอารมณ์ดีอาจจะเปรียบได้กับผ้าสารพัดประโยชน์  ใช้ง่าย  แข็งแรงทนทาน  เวลาเจอปัญหาจะเรียนรู้ในการแก้ปัญหาด้วยความสงบ  มากกว่าแตกตื่นโวยวาย

        ความมั่นคงในอารมณ์  เกิดจากการเรียนรู้ในชีวิต  จากการดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ ครอบครัว  ถ้าครอบครัวมีความรัก ความอบอุ่น  การตอบสนองอย่างพอเหมาะ  เด็กจะมีความมั่นคงในอารมณ์สูง  ไม่หวั่นไหวง่ายๆ  มั่นใจตนเอง  มองโลกในแง่ดี  มองคนอื่นดี  ไว้วางใจผู้อื่น  เวลาเจอปัญหาจะสงบจิตใจได้เร็ว  มองหาหนทางแก้ปัญหาได้ง่าย

     ปัจจัยข้อที่สอง  คือความสามารถทางสติปัญญา 

         ข้อนี้มีส่วนที่ถูกถ่ายทอดมาจากพ่อแม่  ทางพันธุกรรมมากเช่นเดียวกับเรื่องอารมณ์   แต่สติปัญญามีการเรียนรู้ได้ในภายหลังไม่น้อยเช่นกัน  การเรียนรู้เกิดจากการได้มีโอกาสได้ลองเผชิญชีวิตอย่างพอเหมาะ  ไม่มากไปหรือน้อยไป  เมื่อแก้ปัญหาสำเร็จจะเกิดความภูมิใจในตนเอง  ความมั่นใจ  เวลาเจอปัญหาภายหลังจะสงบ  มีทักษะในการคิด การแก้ปัญหาได้อย่างดี  ตัวสติปัญญาที่ดี  ยังทำให้เด็กมีความคิดในการแก้ไขปัญหาได้ละเอียดรอบ  มีช่องทางแก้ปัญหาได้มากกว่า  จะเกิดความสำเร็จดีกว่าเด็กที่สติปัญญาต่ำกว่า เด็กฉลาดจึงมักมี การแก้ปัญหาด้วยความรอบคอบ  และปลอดภัย

        ปัจจัยข้อที่สาม  คือ  ทักษะสังคม  ได้แก่ความสามารถในการสื่อสารเจรจา  การเข้าสังคมกับเพื่อน

           ข้อนี้เกิดจากการเรียนรู้ล้วนๆ  เด็กจะเรียนรู้จากการฝึกฝนการอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ  จากภายในบ้านสู่โรงเรียน  และชุมชน  อย่างไรก็ตามความสามารถข้อนี้ต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานข้อหนึ่งและข้อสองด้วยเช่นกัน

   อาการ    

   เด็กที่ปรับตัวเก่ง  เมื่อเติบโตขึ้นก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ปรับตัวเก่ง  มีสุขภาพจิตดี  เวลาเจอปัญหาไม่ค่อยหวั่นไหว อารมณ์สงบ  ผิดกับคนที่บุคลิกภาพไม่ดี  เวลาเจอความเครียดก็จะออกอาการ  เช่น กังวล  ย้ำคิดย้ำทำ  นอนไม่หลับ  คิดมาก  เบื่อหน่ายท้อแท้  ไม่กล้าสู้ปัญหา  อาจใช้วิธีหลบเลี่ยง  หรือแสดงอารมณ์ตอบสนองไม่เหมาะสม  บางคนถดถอยไปเป็นเด็ก  โวยวาย  ในเด็กวัยเรียนอาจจะไม่อยากไปโรงเรียน  ในผู้ใหญ่อาจแสดงออกมาเป็นอารมณ์  หรืออาการทางกายจากความเครียด  เช่น ปวดท้อง  ปวดหัว  เป็นต้น   อาการมักจะเกิดตามหลังความเครียดที่เห็นได้ชัดๆ  เช่น  การย้ายบ้าน  ย้ายโรงเรียน เพื่อนแกล้งรังแก  ครูดุ  พ่อแม่ทะเลาะกัน  มีการตายของสมาชิกในครอบครัว  ฯลฯ  เมื่อเวลาผ่านไป  ประมาณ สามถึง หกเดือน  คนปกติก็มักจะปรับตัวได้แม้ปัญหาจะยังไม่ได้แก้ไขให้ลุล่วงไปก็ตาม  ในเด็กที่คุณแม่พามาหาผมข้างต้น   หลังจากผมแนะนำให้แม่สงบใจให้ดี  พาไปโรงเรียนเหมือนเดิม  คอยให้กำลังใจ  รับฟังปัญหาไว้เรื่อยๆ อย่าไปโกรธหรือดุว่ารุนแรง   เด็กก็ดีขึ้นจนไปเรียนได้เหมือนปกติในเวลาไม่นาน

       เราทุกคนเวลาเจอปัญหาในชีวิต  มีโอกาสเกิดภาวการณ์ปรับตัวผิดปกติเช่นนี้   แต่เรามีโอกาสพัฒนาตัวเอง  หรือลูกหลานเรา  ให้มีความสามารถในการปรับตัวได้มากเช่นกัน  และเมื่อเราเจอใครที่ตกอยู่ในภาวะเช่นนี้  ก็ขอให้เข้าใจ  มีเมตตา  ปฏิบัติต่อกันดีๆ  ในไม่ช้าเขาก็จะปรับตัวได้ครับ

นพ.  พนม เกตุมาน

 

 ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม

 

                                                                                                    _                                                                           

<ห้องรับแขก

  คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล  เขตดุสิต  กทม 10300  โทร. 0-2243-2142  0-2668-9435

   ส่งเมล์ถึง panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
   ปรับปรุงแก้ไขครั้งล่าสุด:21/05/50