บริษัทคลินิคจิต-ประสาท

 ห้องรับแขก

กลับไป ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม      

 

 

ปัญหาที่มีผู้สงสัยสอบถามบ่อยๆ 

คำถาม  คุณแม่มีลูกชายอายุ 9 ขวบ ไม่มีระเบียบ ดื้อ หรือเฉื่อย

ตอบคุณแม่

          คุณแม่มีปัญหาเรื่องลูก อายุ 9 ขวบ ไม่ทำตามที่บอก ไม่มีระเบียบวินัย  ลองใช้หลายวิธีแล้วไม่ได้ผล จะทำอย่างไรดี คุณแม่ยังสงสัยด้วยว่าลูกดื้อหรือเฉื่อยกันแน่

          อาการดื้อกับเฉื่อยอาจมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือไม่ร่วมมือ ไม่ทำตามที่พ่อแม่ต้องการ ส่วนใหญ่เกิดจากการฝึกนิสัยที่ไม่ถูกต้องมาตั้งแต่ยังเด็ก โดยเฉพาะตั้งแต่ 2-3 ขวบเป็นต้นมา ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มต้นฝึกระเบียบวินัย  เด็กต้องการแสดงออกอยากรู้อยากเห็น ถ้าได้เล่นอย่างพอเหมาะสมก็จะมีลักษณะใฝ่รู้ไม่เฉื่อยชา  แต่การเรียนรู้ของเขาต้องมีกฏเกณฑ์พอสมควร กฏเกณฑ์ที่เข้มงวดเกินไปอาจทำให้เด็กขาดความกระตือรือล้นที่จะเรียนรู้ กลายเป็นเด็กเฉื่อยได้  หรือการช่วยเหลือเด็กมากจนเกินไปก็อาจทำให้เด็กเฉื่อยชาได้เช่นกัน  นอกจากนี้อาจทำให้เด็กไม่มีระเบียบวินัย  เป็นเด็กดื้อได้อีก  เพราะฉะนั้นการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้องมาตั้งแต่วัยเตาะแตะทำให้เป็นปัญหาในวัยต่อมาได้มาก

          แต่ถ้าเดิมพ่อแม่ฝึกมาดีแล้ว  เป็นเด็กมีระเบียบวินัยไม่เฉื่อยชา  แล้วมาเปลี่ยนแปลงตอนหลัง แสดงว่าอาจมีปัญหาบางอย่างรบกวนจิตใจอารมณ์เด็ก  หรืออาจเป็นลักษณะเด็กที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นก็ได้ เขาอาจมีลักษณะดื้อกว่าเดิม  แล้วพ่อแม่อาจปรับตัวตรงนี้ ไม่ได้  กลายเป็นปัญหาอารมณ์ต่อกันแล้วเด็กก็จะไม่ร่วมมือ  แบบนี้ต้องแก้ไขให้ตรงจุด  ส่วนใหญ่ต้องแก้ไขโดยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของพ่อแม่ก่อน  เด็กจึงจะเปลี่ยนแปลง วิธีการใดที่ผู้ใหญ่ใช้แล้วไม่ได้ผล  ก็ควรหยุด และแสวงหาวิธีใหม่ๆ มาลองใช้  และประเมินผลดูเป็นระยะๆว่าได้ผลจริงๆ  หรือไม่ ในขณะเดียวกัน ลองประเมินตนเองดูด้วยว่า วิธีการใดที่เราใช้ไม่ได้ผลเพราะอะไร  ควรจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างไร  ปัญหาที่พบบ่อยๆ เวลาผู้ใหญ่สั่งให้เด็กทำอะไรแล้วเด็กไม่ทำอาจเกิดจากสาเหตุดังนี้

          1. ผู้ใหญ่สั่งโดยใช้อำนาจ  เด็กอาจทำตามเพราะความกลัว ใช้ได้ผลในเด็กเล็ก พอเด็กโตหรือเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นแล้วจะรู้สึกไม่พอใจ  และต่อต้านอาจแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมดื้อเงียบๆ  คือไม่ทำ แต่ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้  หรืออาจแสดงออกมาตรงๆ เช่น โกรธ ก้าวร้าว ต่อต้าน  เป็นปฏิกิริยาทางอารมณ์ให้เห็นชัดๆก็ได้

          ทางแก้ไขคือ การขอร้องให้เด็กทำโดยความนุ่มนวล  อ่อนโยน ให้เด็กเกิดความรู้สึก อยากทำ มากกว่า ต้องทำ  วิธีการที่มักได้ผลคือ  ขอร้องให้เด็กทำโดยให้เขารู้สึกว่าเขาได้ช่วยเหลือพ่อแม่

          2. สั่งในเวลาไม่เหมาะสม  เด็กยังไม่มีความพร้อม  หรือเขายังมีความสนใจเรื่องอื่นอยู่ เช่น สั่งให้เด็กทำงานบ้านในขณะที่เขากำลังดูโทรทัศน์  แบบนี้สภาพอารมณ์เขาไม่พร้อม  หรือเขาไม่สนใจรับคำสั่งนั้นๆ  สั่งไปกี่อย่างก็ไม่เข้าไปในหัวเขา ทางแก้ไข คือ จัดตารางเวลาให้ชัดเจน มีเวลาที่เขาเล่น, สนุก แต่ก็มีเวลาที่กำหนดให้เขาช่วยงานชัดเจนเช่นกัน  ถ้าต้องการสั่งให้เขาทำอะไรเป็นพิเศษ ลองพิจารณาดูว่าเขามีความพร้อมจะทำมากน้อยแค่ไหน  เลือกขอร้องในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะได้ผลกว่า

          การจัดแบ่งเวลาที่ดี  ยังช่วยฝึกให้เด็กมีระเบียบวินัยได้ง่าย โดยไม่ต้องมาคอยดุกันมากด้วยครับ                                                             

          3. สั่งด้วยอารมณ์  โดยเฉพาะอารมณ์โกรธ เด็กจะไม่อยากทำหรือทำหูทวนลม ไม่สนใจ หรือหลีกเลี่ยง  เพราะไม่อยากฟังเพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องระงับอารมณ์ไม่ดีทั้งหลายเอาไว้ให้ดีนะครับ  หรือแยกส่วนกันให้ชัดเจน  ถ้าจะสั่งก็เอาไว้เวลาอารมณ์สงบก่อนจะได้ผลดีกว่า

          4. สื่อสารไม่ชัดเจน  ข้อนี้พ่อแม่ไม่ค่อยรู้ตัว  เพราะคิดว่าสิ่งที่ตัวเองพูด,บอก,สั่ง,สอนนั้นชัดเจนอยู่แล้ว  ยกตัวอย่างเช่น  การสั่งโดยใช้คำถาม  “ทำไมไม่อาบน้ำ” “ทำไมไม่อ่านหนังสือ”  คำถามเช่นนี้กระตุ้นให้เด็กหาเหตุผล (เข้าข้างตัวเองว่า เขาก็มีเหตุผลใดในการไม่ทำเช่นนั้น  เปิดโอกาสให้เขาหาทางหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธที่จะทำ

          การแก้ไข คือ  พยายามสื่อสารให้ชัดเจน สั้นๆ ตรงไปตรงมา และตรวจสอบให้แน่ใจว่าเด็กเข้าใจความต้องการของผู้ใหญ่จริงๆ

          5. ไม่เคยฝึกให้ทำ  พ่อแม่หลายคนโกรธที่ลูกไม่ยอมช่วยงานบ้าน โดยลืมนึกไปว่าไม่เคยฝึกให้เขาทำเลย  แต่คิดว่าเขาน่าจะทำได้  เมื่อไม่ทำหรือทำไม่ถูกใจก็ถูกดุด่าว่ากล่าว  เด็กก็ยิ่งไม่อยากทำมากขึ้น การฝึกให้เด็กช่วยเหลืองานส่วนรวม  เป็นการสร้างนิสัยให้รับผิดชอบ  พ่อแม่ควรฝึกตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ เขาจะรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่เขาต้องทำถ้าเขาสั่งให้ทำตอนโตๆ โดยไม่เคยทำมาก่อน  เขาอาจไม่อยากทำด้วยความคิดว่าไม่ใช่หน้าที่  แล้วก็ทำไม่ได้ทำไม่เป็นด้วย

          6. ไม่เคยชมเด็กเมื่อทำดี การชื่นชนเมื่อเด็กมีพฤติกรรมดีจะสร้างแรงจูงใจทางบวก ทำให้เด็กอยากทำดีอีก  ผู้ใหญ่บางคนกลัวว่าการชมเด็กจะทำให้เด็กเหลิง  ซึ่งไม่เป็นความจริงนะครับ   ควรแสดงความชื่นชมด้วยคำพูด ท่าทาง แสดงความรู้สึกที่ดี ยอมรับ บางครั้งเราชมได้แม้ว่าผลงานของเขาไม่ดี  แต่ชมที่ความพยายามจะทำให้เด็กดีก็ได้

          7. คำสั่งมากเกินไป เด็กไม่รู้จะเลือกทำอะไรก่อน บางคนสมาธิสั้นเวลาฟังคำสั่งหลายๆ คำสั่งแล้วสับสน จำไม่ได้หมด  เลยทำตามเฉพาะเรื่องเขาจะได้แค่ 1-2 เรื่องเท่านั้น  แบบนี้ต้องเข้าใจเด็กมากๆ อย่าไปคิดว่าเขาแกล้งลืม  ลองทบทวนวิธีการออกคำสั่งดูว่าเด็กรับได้มากแค่ไหน  ทางแก้ไขคือ ออกคำสั่งสั้นๆ อย่าให้มากนัก  เมื่อเด็กทำเสร็จแล้วค่อยเพิ่มคำสั่งต่อไป

          8. ความสัมพันธ์ไม่ดี  พื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับพ่อแม่จะช่วยให้เด็กอยากทำตามคำสั่งมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าผู้ใหญ่มองเด็กไม่ดี, โกรธเด็ก, ตำหนิดุด่าว่ากล่าว หรือมีปัญหากัน เด็กจะต่อต้านไม่อยากทำตาม ไม่เกรงใจ และหาทางหลีกเลี่ยงงาน

          9. ขาดการกำกับให้ทำ  เด็กบางคนใช้วิธีหลีกเลี่ยง,หลบหลีก ไม่ทำตามคำสั่งแล้วได้ผล  เพราะพ่อแม่ไม่เคยติดตามว่าเด็กทำตามหรือไม่  การกำกับให้เด็กทำตามที่ตกลงกันไว้  จะช่วยให้เด็กมีความรับผิดชอบมากขึ้น

          คุณแม่  ลองพิจารณาดูให้ละเอียดนะครับ มีปัจจัยข้อใดบ้างที่ยังเป็นปัญหาอยู่  แล้วลองแก้ไขดูตามสาเหตุนั้น น่าจะคลี่คลายปัญหานี้ลงได้

                                                                    นพ. พนม เกตุมาน

                                                             

                                              ปัญหาที่มีผู้สงสัยสอบถามบ่อยๆ        

<ห้องรับแขก

  คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล  เขตดุสิต  กทม 10300  โทร. 0-2243-2142  0-2668-9435

   ส่งเมล์ถึง panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
   ปรับปรุงแก้ไขครั้งล่าสุด:21/05/50