บริษัทคลินิคจิต-ประสาท

 ห้องรับแขก

กลับไป ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม      

 

 

ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม

 

ปํญหาครอบครัว

(Family Problems)

รศ. พญ. ศิริรัตน์ คุปติวุฒิ

   ปัญหาครอบครัวหมายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว  ได้แก่ปัญหาระหว่างสามีภรรยา ความขัดแย้งระหว่างพ่อกับแม่ พี่กับน้อง  พ่อกับลูกหรือแม่กับลูก  ปัญหาการติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิกภายในครอบครัว  ปัญหาความสัมพันธ์  ความไม่เข้าใจกัน 

อาการ

   ปัญหาในครอบครัวอาจแสดงอาการออกได้หลากหลายรูปแบบ เช่น บางคนมีความเครียด ปวดหัว ปวดท้องไม่ทราบสาเหตุ  หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า เบื่อหน่ายท้อแท้ชีวิต จนอาจถึงคิดอยากตาย  อาจมีการขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อยๆ  ปัญหาอาจลุกลามใหญ่โต หรือเรื้อรัง จนอาจทำให้สมาชิกครอบครัวเกิดอาการทางจิตเวช  หรือป่วยทางจิตเวชกันได้หลายคน เช่น โรคจิต โรคประสาท โรคซึมเศร้า โรคติดสารเสพติด โรคบุคลิกภาพแปรปรวน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาครอบครัวตั้งแต่ต้น จึงช่วยป้องกันปัญหาทางจิตเวช และความเจ็บป่วยทางกายได้

การรักษา

การแก้ไขปัญหาครอบครัว สามารถให้การรักษาได้หลายระดับ  ตั้งแต่การให้คำปรึกษาครอบครัว  ไปจนถึงการรักษาแบบครอบครัวบำบัด  ซึ่งมีหลักการรักษา คือ สมาชิกครอบครัวทุกคนมีส่วนร่วมในการเข้าใจปัญหา  หาทางคลี่คลายหรือแก้ไขปัญหาร่วมกัน ช่วยกันปรับเปลี่ยนตนเอง โดยไม่ต้องรอให้อีกฝ่ายหนึ่งแก้ไขก่อน

  การรักษาวิธีนี้ แพทย์จะไม่ค้นหาตัวปัญหา หรือ คนผิด ไม่ตัดสินว่าใครผิดถูก  การช่วยกันปรับความสัมพันธ์ระหว่างกัน การวางตัวต่อกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน บนพื้นฐานของความรัก ความอบอุ่นความห่วงใย ความปรารถนาดีต่อกัน

   ในกรณีที่ความขัดแย้งมีสะสมมานาน  การรักษาจะไม่ขุดคุ้ยความขัดแย้งเก่าๆขึ้นมาอีก  แต่จะวิเคราะห์เฉพาะปัญหาในปัจจุบัน หากลยุทธ หรือวิธีการใหม่ๆ เพื่อคลี่คลายปัญหาหรือความขัดแย้ง สร้างคุณภาพชีวิตครอบครัวเพื่อให้ทุกคนมีความสุข

การป้องกัน

   ครอบครัวที่อบอุ่น เป็นภูมิต้านทานต่อความเจ็บป่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคทางกาย โรคทางจิต และ โรคติดสารเสพติด  การสร้างครอบครัวที่อบอุ่น ทำได้ดังนี้

1.มีการติดต่อสื่อสารที่ดี เมื่อมีคนพูด ควรมีคนรับฟัง พยายามทำความเข้าใจกัน บอกความต้องการด้วยความสงบ ไม่ต่อว่า ส่อเสียดคุกคามกัน ไม่ควรเริ่มต้นด้วยการตำหนิ ว่ากล่าว หรือจี้จุดอ่อนของอีกฝ่ายหนึ่ง

2. มีการเคารพสิทธิส่วนตัวของกันและกัน ในพื้นฐานของกติกาที่ดี ไม่มีการละเมิดสิทธิส่วนตัวซึ่งกันและกัน แต่ละคนอาจมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้

3. พ่อแม่ควรมีความร่วมมือกันในการดูแลครอบครัว   การแก้ไขปัญหาต่างๆ และปัญหาพฤติกรรมเด็ก

4. การมีเวลาที่มีคุณภาพร่วมกัน แม้เวลาเพียงเล็กน้อย แต่คุณภาพที่ดีจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี  เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาครอบครัวที่มีคุณภาพ

เอกสารอ้างอิง

1. จิตบำบัดครอบครัวและการให้คำปรึกษา  โดย  รศ. พญ. ศิริรัตน์ คุปติวุฒิ

2. จิตบำบัดครอบครัวและการให้คำปรึกษา  โดย ศ. พญ. อุมาพร ตรังคสมบัติ

3. เลี้ยงลูกให้ถูกวิธี  ชีวีเป็นสุข  โดย ศ. พญ. นงพงา ลิ้มสุวรรณ

ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม

<ห้องรับแขก

  คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล  เขตดุสิต  กทม 10300  โทร. 0-2243-2142  0-2668-9435

   ส่งเมล์ถึง panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
   ปรับปรุงแก้ไขครั้งล่าสุด:21/05/50