บริษัทคลินิคจิต-ประสาท

 ห้องรับแขก

กลับไป ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม      

 

 

ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม

โรคสมาธิสั้น

(Attention Deficit Hyperactivity Disorder)

นพ. ชาญวิทย์ พรนภดล

นพ.พนม  เกตุมาน

   

คำจำกัดความ

               ความผิดปกติทางพฤติกรรมชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในเด็ก  โดยแสดงอาการอย่างต่อเนื่องยาวนาน  จนทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเรียน  ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับอายุและระดับพัฒนาการ  โดยที่ความผิดปกติดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนอายุ 7 ปี   มีอาการประกอบด้วย

1.       สมาธิสั้น ( Inattention )

2.       ซุกซน  อยู่ไม่นิ่ง ( Hyperactivity )

3.       หุนหันพลันแล่น ( Impulsivity )

                อาการต่อไปนี้ต้องเป็นมาตลอดต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน  มีอาการเกิดก่อนอายุ 7 ปี และความรุนแรงของอาการมีผลต่อการปรับตัวและไม่เหมาะกับพัฒนาการของเด็ก   สามารถสังเกตอาการได้ใน 2 สถานที่ขึ้นไป เช่น ที่บ้าน  ที่โรงเรียน หรือห้องตรวจ เป็นต้น  ส่งผลให้เกิดผลเสียต่อชีวิตในสังคม  การเรียน   การอาชีพและต่อการงาน                

     ระบาดวิทยา

               ความชุกของโรคสมาธิส้นในประเทศไทย  จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างนักเรียนชั้นประถม 4 ในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 1,698 คน จาก 104 โรงเรียน  พบว่ามีความชุก 5.09 %  โดยพบในกลุ่มเด็กนักเรียนชาย 7.81 % และกลุ่มเด็กนักเรียนหญิง 1.59 %

     อาการแสดง

อาการสมาธิสั้น  ประกอบด้วย

1.     ละเลยในรายละเอียด  หรือทำผิดด้วยความเลินเล่อในการทำงาน  ในการเรียนหรือใน  กิจกรรมอื่นบ่อยๆ

2.     มีความยากลำบากในการตั้งสมาธิกับการงานหรือการเล่น

3.     ดูเหมือนไม่ฟังเมื่อมีคนพูดด้วย

4.     ทำตามคำสั่งไม่จบหรือทำกิจกรรมไม่เสร็จ   ซึ่งไม่ได้มาจากการดื้อดึงหรือไม่เข้าใจการชี้แนะ

5.     มีความลำบากในการจัดระเบียบงานหรือกิจกรรม

6.     หลีกเลี่ยงหรือไม่ชอบหรือลังเลที่จะทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความพยายาม เช่น การบ้าน     เป็นต้น

7.     ทำของหายบ่อยๆ

8.     มักวอกแวกตามสิ่งเร้าภายนอก

9.    ทำของหายบ่อยๆลืมกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำอยู่เสมอ

อาการอยู่ไม่นิ่ง  ประกอบด้วย

1.     ยุกยิก  ขยับตัวหรือมือหรือขาไปมา

2.     มักลุกจากที่ในห้องเรียน  หรือในที่อื่นที่ต้องนั่ง

3.     มักวิ่งวุ่น  หรือปีนป่ายในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม (  ในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่อาจเหลืออาการ เพียงความรู้สึกกระวนการวาย  หรือกระสับกระส่าย )

4.     มักไม่สามารถเล่นแบบเงียบๆได้

5.     เคลื่อนไหวตลอดเวลา  คล้ายขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์

6.     พูดมากเกินไป

อาการหุนหันพลันแล่น  ประกอบด้วย

7.     พูดแทรก  พูดโพล่งก่อนคำถามจะจบ

8.     มีความลำบากในการรอคอย

9.     ชอบขัดจังหวะหรือสอดแทรกผู้อื่นในวงสนทนาหรือการเล่น

                            พบโรคทางจิตเวชอื่นๆเกิดร่วมด้วยกับโรคสมาธิสั้นถึง ร้อยละ 50 โดยอัตราการเกิดจะเพิ่มขึ้นตามอายุและในการวินิจฉัยจะต้องพิจารณาโรคที่เกิดร่วมด้วยเพราะจะมีผลต่อการดำเนินโรคและการรักษา   

การดูแลรักษา

 การรักษา ADHD ต้องใช้หลายวิธีประกอบกันเรียกว่า multiple – modality  approach  การรักษาแบบนี้ประกอบด้วยการรักษาโดยการใช้ยาและด้านจิตสังคม( psychosocial intervention) ซึ่งจะเน้นทั้งที่ ครอบครัว โรงเรียน และ ผู้ป่วย

1. Stimulant medication การใช้ยาจะช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมสมาธิตนเองได้ดีขึ้น ตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน ทำงานเสร็จ ควบคุมพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น เด็กจะเรียบร้อยขึ้น สงบนิ่งได้มากอย่างเห็นได้ชัดเจน แพทย์จะแนะนำเรื่องการใช้ยาอย่างละเอียด  และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในบางคน  ให้ผู้ป่วยและพ่อแม่ทราบก่อนการเริ่มใช้ยา  หลังจากนั้นจะมีการติดตามประเมินผลของการใช้ยาอย่างใกล้ชิด  ยาจะได้ผลในผู้ป่วยประมาณร้อยละ 70-80  บางรายแพทย์อาจให้ยาผู้ป่วยรับประทานมื้อกลางวัน  ในเด็กเล็กที่ยังรับผิดชอบการกินยาเอง  อาจขอความช่วยเหลือคุณครูช่วยจัดให้

         2. Psychosocial interventions  ประกอบด้วย  Family intervention,  Patient intervention และ  School intervention

                    2.1  การช่วยเหลือครอบครัว  (Family intervention ประกอบด้วย

1. การให้ความรู้  (Psychoeducation)ให้บุคคลในครอบครัวมีความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของโรคนี้ว่าเป็นอย่างไร สอนพ่อแม่เกี่ยวกับทักษะแนวทางการดูแลเด็กโดย ใช้คำพูดหรือคำสั่งชัดเจน ให้แรงเสริมพฤติกรรมที่ดี มองข้ามพฤติกรรมบางอย่าง และใช้วิธีจัดการที่เหมาะสม เช่น  timeout(ขอเวลานอก) รวมทั้งให้ความรู้กับผู้ปกครองในการช่วยเหลือด้านการเรียนเด็กที่บ้าน โดย

-  จัดหาสถานที่ที่เด็กจะทำการบ้าน  หรือทบทวน   ต้องเป็นมุมหรือห้องที่สงบ  ไม่มีเสียงรบกวน  , ไม่    พลุกพล่าน , ไม่มี TV  หรือของเล่นมาดึงความสนใจ

-  จัดโต๊ะเขียนหนังสือเด็กให้หันเข้าฝาผนัง  ไม่ใกล้หน้าต่าง  ประตู

-  กำหนดเวลาทำการบ้าน , ทบทวนบทเรียน  ให้เป็นเวลาแน่นอน

-  ต้องมีผู้ปกครองประกบอยู่ด้วยเพื่อเรียกสมาธิ  และให้ความช่วยเหลือ  แนะนำ

-  ผู้ปกครองต้องพยายามควบคุมอารมณ์ของตน  ให้บรรยากาศสงบ  เปิดโอกาสให้เด็กเปลี่ยนอิริยาบ  หรือ     หยุดพักช่วงสั้น ๆ ได้  เมื่อเห็นว่าเด็กหมดสมาธิแล้ว

2. การฝึกพ่อแม่ในการจัดการกับพฤติกรรมเด็ก (Parent management training)  โดยให้ความรู้และฝึกทักษะให้แก่พ่อแม่ในการใช้เทคนิคการปรับพฤติกรรม (behavioral approaches) โดยการให้แรงเสริมเพื่อเพิ่มพฤติกรรมที่ต้องการ และลดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการเช่นการใช้ token economy โดยการให้ ดาว คะแนน สะสมเพื่อแลกรางวัลที่ตกลงกันไว้ เช่น ขนม,ของเล่น หรือ สิทธิพิเศษต่างๆ สามารถใช้วิธีนี้ได้ทั้งผู้ปกครอง,ครูหรือแพทย์ ใช้ได้ผลในการปรับปรุงพฤติกรรมเป้าหมาย,ทักษะทางสังคม และผลการเรียนในสถานที่ ที่กำหนด แต่ผลในการลด inattention  , hyperactivity  หรือ  Impulsivity โดยตรง จะน้อยกว่า  จุดอ่อนของ พฤติกรรมบำบัดคือพฤติกรรมที่เกิดขึ้นไม่ยั่งยืน และไม่ขยายผลไปยังด้านอื่นๆ

เปรียบเทียบผลการรักษาโดยพฤติกรรมบำบัดกับการรักษาโดยยา พบว่าพฤติกรรมบำบัดได้ผลน้อยกว่าการใช้ยา แม้ในกรณีที่เพิ่ม behavior modification เข้าร่วมกับการใช้ยาก็จะช่วยให้ผลการรักษาโดยยาดีขึ้นเพียงเล็กน้อย  อีกทั้งการใช้พฤติกรรมบำบัดไม่ช่วยให้หยุดยาเร็วขึ้น  การใช้ behavior techniques ในโรงเรียน โดยใช้ daily report cards , homework notebook ให้ผู้ปกครอง และครู เซ็นตรวจทุกวัน จะช่วยเรื่อง organization และความสม่ำเสมอเรื่องการบ้านได้

3. ครอบครัวบำบัด  (Family therapy)  มีประโยชน์ในครอบครัวที่ dysfunction ไม่ว่าจะมีสาเหตุเริ่มแรกจากผู้ป่วยเอง หรือจาก พ่อแม่,  ชีวิตสมรส 

                  2.2  การรักษาเด็ก  (Patient intervention) พิจารณาตามความจำเป็นของผู้ป่วยแต่ละราย ได้แก่

1. การฝึกทักษะสังคม (Social Skill Training)  มีการฝึกหลายด้าน   พบว่าการฝึกทักษะทางสังคมแบบ รายบุคคลจะไม่ได้ผลเพราะเด็ก ADHD ขาดทักษะในการสังเกตตนเอง การฝึกเป็นกลุ่มจะช่วยให้พฤติกรรมที่เป็นปัญหาแสดงออกมาและได้รับการแก้ไขผ่านขบวนการ  modeling, practice, feedback และ Contingent reinforcement

2. การสอนเสริมทักษะ (Academic Skills Training) มีประโยชน์ในผู้ป่วยที่มีปัญหาการเรียน การฝึกทักษะด้านการเรียนโดยฝึกแบบ individual  หรือ group ก็ได้โดยจะเน้นเรื่อง การทำตามคำสั่ง, การจัดระบบ ระเบียบ, การใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ, การตรวจทบทวนผลงาน, การจดบันทึก และการเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ

            3. จิตบำบัดรายบุคคล (Individual Psychotherapy)  การทำจิตบำบัดเฉพาะบุคคล ไม่ได้ผลในการรักษาโรค ADHD โดยตรง แต่มีประโยชน์ในการรักษา อาการกังวล และซึมเศร้า ที่พบร่วมกับ ADHD และอาจใช้จิตบำบัดเฉพาะบุคคล เป็นครั้งคราว เมื่อผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการปรับตัว, ความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เป็นต้น

4. พฤติกรรมบำบัดและการบำบัดทางความคิด (Cognitive Behavior Modification-CBM) การศึกษาในช่วงแรกพบว่าได้ผลในหลายอาการของADHD แต่การศึกษาช่วงหลังพบว่าไม่ได้ผล  และพบว่าเมื่อใช้ CBM ร่วมกับการใช้ยา Stimulants ไม่ได้ช่วยให้ผลการรักษาดีเพิ่มขึ้นเปรียบเทียบกับการใช้ Stimulant อย่างเดียว

5. การปรับเปลี่ยนอาหาร (Dietary Interventions)  มีความเชื่อว่าสารอาหารบางชนิดทำให้เกิดอาการ ADHD  บางแห่งจึงมีการรักษาโดยให้หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดเพื่อลดอาการ ADHD เช่น น้ำตาล แป้ง สารผสมอาหาร ฯลฯ แต่จากการศึกษาพบว่าไม่ได้ผล   จึงยังไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้

                       2.3   การช่วยเหลือทางโรงเรียน (School intervention)  

ประสานกับโรงเรียนเพื่อให้เกิดความเข้าใจในปัญหาของผู้ป่วย และสามารถให้การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม คือ

1.  ตำแหน่งโต๊ะเรียน  ไม่ควรให้เด็กนั่งติดหน้าต่างหรือประตู  เพราะเด็กจะวอกแวกเสียสมาธิง่าย  ควรให้เด็กนั่งแถว หน้าสุดใกล้โต๊ะครู  เพื่อคุณครูจะได้สามารถเตือนเรียกสมาธิเด็กได้และควรให้เด็กนั่งติดกับนักเรียนที่ไม่เล่นหรือคุย   ระหว่างเรียน

2.  เมื่อเห็นว่าเด็กหมดสมาธิจริง ๆ  ควรให้เด็กมีกิจกรรมที่เปลี่ยนอิริยบบ้าง   เช่น  ช่วงครึ่งหลังของคาบเรียน  ควรอนุญาตให้เด็กลุกจากที่ได้บ้าง  แต่เป็นทางสร้างสรรค์  เช่น   ให้ไปล้างหน้า หรือมาช่วยคุณครูลบกระดาษ   หรือช่วยแจกสมุดก็จะช่วยลดความเบื่อของเด็กลง  และทำให้เรียนได้นานขึ้น

     3.   ในกรณีที่เด็กมีสมาธิสั้นมาก  สามารถใช้วิธีลดระยะเวลาทำงานให้สั้นลง เป็นช่วงสั้นๆหลายช่วง  โดยเน้นในเรื่องความรับผิดชอบ ให้ทำงานให้สำเร็จ 

    4. ม่ประจาน  ประาม  หรือตราหน้าว่าเป็นเด็กไม่ดี  และไม่ลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง   หากเป็นพฤติกรรมจากโรค ADHD เช่น        ซุ่มซ่าม    ทำของเสียหาย    หุนหันพลัน

5.   บรรยากาศที่เข้าใจและเป็นกำลังใจจะช่วยให้เด็กพยายามปรับปรุงตัวเองมากขึ้น  ให้ความสนใจและชื่นชม   เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี 

    6. เมื่อต้องการสื่อสารกับเด็ก  ควรสังเกตว่าเด็กอยู่ในภาวะที่พร้อม  หรือมีสมาธิที่จะให้ความสนใจสิ่งที่คุณครูกำลังจะพูด พูดกับเด็กโดย    ใช้คำพูดที่กระชับแต่ได้ใจความชัดเจน  หากเด็กกำลังอยู่ในช่วงเหม่อ  วอกแวก  หรือไม่ได้สนใจ  ควรเรียก  หรือแตะตัวอย่างนุ่มนวลให้เด็กรู้สึกตัวและหันมาสนใจเสียก่อนจึงสื่อกับเด็

     7. เด็กอาจมีปัญหาการปรับตัวเข้ากับเพื่อน  เพราะเด็กมักจะใจร้อน  หุนหัน  เล่นแรง  ในช่วงแรกอาจต้องอาศัยคุณครูช่วยให้คำตัก    เตือน  แนะนำด้วยท่าทีที่เข้าใจ  เพื่อให้เด็กเข้าใจปัญหาของตนเอง  และระมัดระวัง  ควบคุมตนเองได้ดีขึ้น

     8.  ให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนเป็นพิเศษ  เนื่องจากเด็กที่เป็นโรค ADHD นั้นพบว่าประมาณ 40 % จะมีควาบกพร่องด้านการเรียนรู้เฉพาะด้าน (Learning  Disability)

9.  การสอนแบบ “ตัวต่อตัว”  จะได้ผลดีมากในเด็ก ADHD เพราะสามารถเรียกสมาธิเด็กได้ดีกว่า  และสามารถปรับจังหวะการสอนได้ตรงกับช่วงสมาธิของเด็ก  ผู้ปกครองของเด็กจะช่วยเสริมจุดนี้ได้อย่างดีโดยคุณครูมอบหมายหัวข้อให้

สรุปจากคู่มือการรักษาโรคสมาธิสั้น ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

สนใจการฝึกทักษะเด็กสมาธิสั้น  ติดตามต่อได้ใน   "สุขใจกับเด็กสมาธิสั้น"

ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรมารใช้ยา

1.

 

<ห้องรับแขก

  คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล  เขตดุสิต  กทม 10300  โทร. 0-2243-2142  0-2668-9435

   ส่งเมล์ถึง panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
   ปรับปรุงแก้ไขครั้งล่าสุด:21/05/50