บริษัทคลินิคจิต-ประสาท |
|
ความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย Post-Traumatic Stress Disorder ผศ. นพ. พนม เกตุมาน
บทนำ แพทย์ทั่วไปอาจพบผู้ป่วยโรคความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย หรือ Post-traumatic stress disorder (PTSD)ในระหว่างการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัย ความชุกของ PTSD พบมากเป็นอันดับ 4 ของโรคทางจิตเวชทั้งหมด ความชุกชั่วชีวิต (life time prevalence)พบร้อยละ 10.3 ในผู้ชาย และ ร้อยละ 18.3 ในผู้หญิง โรคนี้เป็นที่รู้จักหลังจากแพทย์พบอาการทางจิตใจในทหารผ่านศึกที่ผ่านการสู้รบรุนแรงถึงคุกคามชีวิต หรือมีเพื่อนเสียชีวิต เมื่อกลับแนวหลังยังมีอาการทางจิตเวชหลายประการ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันภายหลัง คือ PTSD1-2 นอกจากนี้ PTSD อาจพบได้ในเหตุการณ์ ภัยรุนแรงทุกชนิด หรือ สถานการณ์อื่นๆ เช่น ภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุ หรืออุบัติภัยหมู่ การถูกทำร้ายทางร่างกายหรือทางเพศ การถูกทารุณทางเพศ การถูกข่มขืน ถูกทรมาน เด็กที่อยู่ในบ้านที่มีความรุนแรง คนที่อยู่ในเหตุการณ์สงคราม หรือการก่อการร้ายที่นับวันมีมากขึ้นในอนาคต ภัยที่คุกคามรุนแรงเกินภัยปกติที่คนเผชิญเหล่านั้น ล้วนทำให้เกิด PTSD ได้เช่นกัน การศึกษาในระยะหลังพบว่า คนทั่วไปส่วนใหญ่มีโอกาสพบภัยพิบัติอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต และร้อยละ 25 ของผู้ที่ประสบภัยดังกล่าวจะเกิดโรค PTSD ผู้ที่รอดชีวิตจากภัยพิบัติหรือภยันตราย มีโอกาสเกิดโรคทางจิตเวชอีกหลายโรค ได้แก่ โรคซึมเศร้า (Major depressive disordser) โรคแพนิค (Panic disorder) โรคประสาทวิตกกังวล (Grneralized anxiety disoeder) การใช้และติดยาเสพติด (Substance use disorder or alcoholim ในเด็กและวัยรุ่นที่เคยเผชิญภัยพิบัติมาแล้ว มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรค PTSD หลังเหตุภัยพิบัติอื่น และเกิดโรคทางร่างกายเช่น โรคความดันโลหิตสูง หอบหืด โรคทางกายจากความเครียด(Psychosomatic disorders) ได้ง่าย อาการของโรค PTSD รบกวนการดำเนินชีวิต การเรียนและการทำงาน ในเด็กอาการอาจไม่ชัดเจนทำให้พ่อแม่หรือครูมองข้ามไป ประสิทธิภาพของการปรับตัวที่ลดลงเกิดจากปัญหาสมาธิและความจำ การหลีกเลี่ยงสถานการณ์ หลบหลีกงานหรือการเรียน ผลการเรียนที่ตกลงทำให้เกิดความสูญเสียเรื้อรัง การวินิจฉัยและรักษาอาการของโรคได้ จะช่วยป้องกันปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม การพูดคุยสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยพิบัติ ถ้าทำไม่ถูกต้อง อาจเป็นการซ้ำเติมทางจิตใจ (retraumatization)ทำให้อาการของโรคมากขึ้น รบกวนการหายของโรคนี้ แพทย์จึงควรสนใจมีความรู้เรื่องนี้ และนึกถึงเพื่อช่วยคัดกรอง มีทักษะในการสัมภาษณ์ วินิจฉัยและให้คำปรึกษาเบื้องต้น โดยไม่เกิดผลเสียต่อการดำเนินของโรค
ลักษณะ และประเภทของภัยพิบัติหรือภยันตราย (Traumatic events)3 ลักษณะของภัยพิบัติที่ทำให้เกิดผลเป็น PTSD ได้ต้องมีลักษณะรุนแรงมากเพียงพอที่จะทำให้เกิดอาการและปัญหาในการปรับตัวได้อย่างเรื้อรังในคนส่วนใหญ่ที่เผชิญภัยพิบัตินั้น มิใช่เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดธรรมดา หรือการสูญเสียตามปกติที่พบในชีวิต แต่เป็นสถานการณ์ที่รุนแรงนอกเหนือจากเหตุของความเครียดปกติของชีวิต และมีลักษณะคุกคามต่อชีวิตของผู้นั้น หรือคนอื่นๆ จนทำให้เกิดความกลัว (fear) ความหวาดหวั่น(horror)อย่างรุนแรง และความรู้สึกช่วยเหลือแก้ไขไม่ได้ (helplessness) ผู้ประสบภัยอยู่ในเหตุการณ์นั้น อาจได้เห็นผู้อื่นบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ตนเองรอดชีวิตมาได้ ในเหตุการณ์มีการเสียชีวิต หรือความเสียหายอย่างมาก ภัยพิบัติเกิดจากสิ่งต่อไปนี้ ภัยธรรมชาติ เกิดขึ้นเองโดยไม่เกี่ยวกับการกระทำหรือความผิดพลาดบกพร่องของมนุษย์หรือสิ่งประดิษฐ์ผลงานของมนุษย์ ได้แก่ คลื่นยักษ์สึนามิ แผ่นดินไหว พายุ น้ำท่วม ภัยที่เกิดจากมนุษย์ เกิดจากการจงใจกระทำโดยมนุษย์ หรือ ความผิดพลาดของการกระทำของมนุษย์ ได้แก่ การก่อการร้าย การข่มขืน การทรมาน การปล้น การลักพาตัว การเผชิญสงคราม อุบัติเหตุรุนแรง และการรับทราบว่าตนเองป่วยโรคที่คุกคามชีวิต
อาการ Post-Traumatic Stress Disorder และ Acute Stress Disorder
หลังเหตุการณ์ที่คุกคามชีวิต จิตใจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และรุนแรง ปฏิกิริยาแตกต่างกันตามวัย มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่ ทำให้อาการของความเครียดต่อเนื่อง ไม่สงบลงด้วยตัวเอง จนเกิดเป็นอาการต่างๆหลายระบบได้ดังนี้ ช็อคทางจิตใจ เงียบเฉย งง ขาดการตอบสนอง สับสน อารมณ์เฉยชาไม่แจ่มใสร่าเริงเหมือนเดิม อาการนี้มักเกิดในวันแรกๆ ตกใจและหวาดกลัว (Hyperarousal) เกิดจากความกลัวเหตุการณ์นั้นวิตกกังวลง่าย กังวลแม้แต่เรื่องเล็กน้อย ตกใจง่ายจากเสียงดัง หรือเสียงคลื่น ขาดสมาธิ ย้ำคิดย้ำทำ คิดวนเวียนเรื่องที่วิตกกังวลซ้ำๆ ถามพ่อแม่ถึงความปลอดภัยซ้ำๆ อาจมีอาการอารมณ์แปรปรวน ร้องไห้ไม่สามารถควบคุมตนเอง ความกังวลอาจเกิดจากเหตุการณ์ที่เกิดตามมา เช่น พ่อแม่พลัดหลง การเผชิญสถานการณ์ตามลำพังกลัวจากการสูญเสีย ในการค้นหาผู้รอดชีวิต รู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีก (Reexperiencing) คิดถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ ตกใจขึ้นมาเองเหมือนตัวเองอยู่ในเหตุการณ์นั้นเมื่อมีสิ่งเร้าเพียงเล็กน้อย เช่นได้ยินเสียงคลื่น เสียงน้ำ เสียงคนร้องตะโกนดังๆ คิดซ้ำๆถึงเหตุการณ์นั้น ฝันร้ายว่าอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีก รู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นขึ้นมาเองและตกใจกลัว (Flash back) เกิดอาการทางร่างกายของความวิตกกังวลรุนแรง เช่น ใจสั่นมือสั่น เหงื่อออกมาก ในเด็กโตหรือวัยรุ่นบางคน กลัวและหลีกเลี่ยง (Avoidance) กลัวสถานที่หรือสถานการณ์ที่ประสบเหตุ หวาดกลัวสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ และหลีกเลี่ยงไม่กล้าเผชิญกับสิ่งเร้านั้นๆ เช่น กลัวคลื่น กลัวเสียงคลื่น กลัวทะเล กลัวชายหาด ไม่กล้ากลับเข้าบ้านหรือไปที่ชายหาด กลัวสิ่งที่คล้ายๆสิ่งกระตุ้นภัยพิบัติ เช่นกลัวน้ำจากฝักบัว กลัวสระว่ายน้ำ ไม่กล้าว่ายน้ำ หรืออาบน้ำจากฝักบัว ในผู้ที่ถูกข่มขืนไม่กล้าเผชิญหน้าหรือไม่กล้าชี้ตัวผู้กระทำ ไม่กล้าเข้าไปในที่เกิดเหตุ อาการต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ร้อยละ 15-40 ของผู้ประสบภัย ถ้าเกิดขึ้นใน 4 สัปดาห์แรกหลังเหตุการณ์ และหายไปใน 4 สัปดาห์เรียกว่า Acute Stress Disorder ส่วนใหญ่อาการเหล่านั้นมักหายได้เอง ถ้าหลัง 4 สัปดาห์แล้วยังมีอาการเหล่านี้อยู่ หรืออาการเหล่านั้นเกิดขึ้นในภายหลังเรียกว่า Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) อาการที่พบร่วมด้วย ได้แก่ ซึมเศร้าจากการสูญเสีย (Grief Reaction) เกิดจากการสูญเสียพ่อแม่พี่น้อง หรือบ้านเรือนทรัพย์สิน หมดหวัง ท้อแท้ รู้สึกไม่สามารถควบคุมเหตุการณ์ใดๆได้ พฤติกรรมถดถอย (Regression) เป็นเด็กลงไปกว่าวัย มักพบในเด็ก มีอาการถดถอยลงไปเป็นเด็กกว่าวัย เช่น ช่วยตัวเองไม่ได้ เรียกร้องเอาแต่ใจตัว หงุดหงิดงอแง ไม่ช่วยตัวเอง กังวลต่อการพลัดพรากจากพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด ติดพ่อแม่หรือผู้ใหญ่มากขึ้นไม่ยอมไปโรงเรียน ไม่ยอมอยู่ห่างพ่อแม่ ร้องไห้เวลาพ่อแม่ไปส่งที่โรงเรียน อาจมีปัญหาอารมณ์หรือพฤติกรรมอื่นๆตามมา ซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย (Depression and Suicide) อาการซึมเศร้าอาจเกิดต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์ สัปดาห์แรก หรือเริ่มเกิดภายหลัง อาการซึมเศร้ามักประกอบด้วยอาการหลายอย่างได้แก่ อารมณ์ไม่สดชื่นร่าเริงแจ่มใส เบื่อหน่ายท้อแท้ ขาดความสุข เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ หรือหลับได้ตอนหัวค่ำ แต่จะตื่นตอนตอนดึกๆ แล้วหลับต่อได้ยาก สมาธิสั้นวอกแวกง่าย ความจำเสีย หมดแรงเหนื่อยหน่าย คิดว่าตนเองเป็นภาระให้ผู้อื่นลำบาก รู้สึกผิด ที่ตนเองรอดชีวิตมาได้ หรือไม่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ บางคนอาจคิดว่าตนเองเป็นสาเหตุ เช่น เป็นคนชักชวนให้ไปเที่ยวที่นั่น หรือตัวเองช่วยเหลือคนอื่นช้าไป คิดว่าตนเองไร้ค่า อาการซึมเศร้าอาจรุนแรงมากจนคิดว่าตนเองผิด เบื่อชีวิต คิดอยากตาย คิดฆ่าตัวตายได้ อาการซึมเศร้าข้างต้นนี้ ถ้ามีมาก และรุนแรงถึงเบื่อชีวิต คิดอยากตาย เรียกว่า โรคซึมเศร้า (Major Depreesive Disorder) อาการซึมเศร้าอาจมีไม่รุนแรงนัก เป็นอาการซึมเศร้าจากภาวะการปรับตัวผิดปกติที่มีอารมณ์เศร้า (Adjustment Disorder with Depressed Mood) ในเด็กอาการเศร้าอาจเห็นไม่ชัดเจน บางครั้งแสดงออกเป็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น ซึมเฉย ไม่ร่าเริง ไม่เล่น ไม่พูดคุยเหมือนเดิม ในวัยรุ่นอาการอาจมีเพียงหงุดหงิดฉุนเฉียว อารมณ์แปรปรวนแตกต่างไปจากเดิม หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว พฤติกรรมทางเพศ หรือการใช้ยาเสพติด ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจมีผลต่อการเรียน หรือพัฒนาการบุคลิกภาพในระยะยาว อาการกลัวหรือโรคกลัว(Phobias) เช่นกลัวทะเล กลัวคลื่น กลัวความมืด กลัวอยู่คนเดียว กลัวบ้านหรือสถานที่ที่เกิดเหตุ มักมีอาการหลบเลี่ยงหลีกเลี่ยงไม่เผชิญสิ่งที่กลัว (Phobic avoidance) ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจมีผลต่อจิตใจระยะยาว เช่นขาดความมั่นใจตนเอง ไม่สามารถทำหน้าที่ได้เหมือนเดิมหรือเหมือนเด็กอื่น อาจกลายเป็นโรคกลัวเรื้อรังรักษายาก หรือบุคลิกภาพแบบหลบเลี่ยง อาการวิตกกังวล เด็กบางคนจะมีความวิตกกังวลมากขึ้น กังวลในเรื่องเล็กน้อยที่ไม่น่ากังวล เครียดง่าย หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ หลับๆตื่นๆ ตื่นแล้วหลับต่อยาก อาการของสมาธิและความจำ สมาธิความจำลดลงจนอาจมีผลเสียต่อการเรียน ขาดความมั่นใจตนเอง ไม่กล้าแสดงออก อาการเหล่านี้อาจมีมากขึ้นจากเดิม จนรบกวนการเรียน หรือการดำเนินชีวิต เด็กที่ขี้กังวลอยู่แล้วอาจมีมากขึ้นกว่าเดิม ปัญหาการเรียน สมาธิที่ลดลงทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง ขาดความสนใจการเรียน การเรียนตกลงจากเดิม ไม่สนใจการเรียน พฤติกรรม เด็กบางคนมีพฤติกรรมถดถอยกลับไปเป็นเด็กกว่าวัย ( ดูดนิ้ว ปัสสาวะรดที่นอน ติดพ่อแม่ ไม่ยอมไปโรงเรียน ) หรือหงุดหงิดก้าวร้าว ไม่รับผิดชอบตนเองเหมือนเดิม ไม่สนใจชีวิต ขาดแรงจูงใจที่จะทำอะไรเหมือนเดิม พัฒนาการของบุคลิกภาพ จาการขาดความมั่นใจตนเอง หลบเลี่ยงปัญหา บางคนถูกตามใจเอาใจมากเกินไป จนกลายเป็นคนเอาแต่ใจ เรียกร้อง ไม่โต ขาดวุฒิภาวะ บางคนก้าวร้าวเกเร และอาจต่อเนื่องจนกลายเป็นปัญหาบุคลิกภาพ การใช้สุรา ยาเสพติด (Substance Use Disorders) มีการใช้เหล้าและยาเสพติดเพิ่มขึ้น เพื่อลดอาการทางจิตใจอารมณ์ ใช้บ่อยขึ้นจนเป็นโรคติดเหล้าหรือติดยาเสพติด
การวินิจฉัยโรค Post-Traumatic Stress Disorder4 การวินิจฉัยโรค PTSD ใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (DSM IV) ดังนี้ A. ผู้ประสบภัยอยู่ในเหตุการณ์ภัยพิบัติที่มีความรุนแรงนั้น และมีลักษณะทั้งสองข้อต่อไปนี้ 1. เผชิญด้วยตนเอง กับเหตุการณ์ที่คุกคามชีวิต การบาดเจ็บ ของตนเองหรือผู้อื่น 2. ผู้ประสบภัยนั้น เกิดความกลัวอย่างรุนแรง รู้สึกช่วยเหลือตนเองไม่ได้ หวาดหวั่นอย่างมาก ในเด็กอาจแสดงออกเป็นพฤติกรรมวุ่นวาย B. มีอาการที่แสดงว่าได้กลับไปเผชิญเหตุการณ์นั้นอีก (re-experience) อย่างน้อย 1 ข้อ ใน 5 ข้อ ต่อไปนี้ 1. คิดวนเวียนถึง 2. ฝันร้าย 3. รู้สึกว่ากลับไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นอีก 4. รู้สึกเครียดเวลานึกถึง พูดถึง หรือเผชิญสิ่งเร้าที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ 5. มีอาการทางร่างกายตอบสนองเวลาเผชิญเหตุการณ์นั้นจริง หรือคิดถึง C. พฤติกรรมหลีกเลี่ยงส่งกระตุ้น ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น อย่างน้อย 3 ข้อ ใน 7 ข้อต่อไปนี้ 1. หลีกเลี่ยงการคิด ความรู้สึก การสนทนา ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 2. หลีกเลี่ยงกิจกรรม สถานที่ คน ที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์ 3. ไม่สามารถระลึกถึงจุดสำคัญของเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ประสบมา 4. ไม่สนใจร่วมกิจกรรมที่สำคัญ 5. อารมณ์เฉยชาต่อผู้อื่น 6. ไร้อารมณ์ตอบสนอง 7. ไม่สนใจอนาคต ไม่คิดว่าจะต้องทำอะไรต่อไป D. อาการของความตื่นตัว มีอย่างน้อย 2 ข้อใน 5 ข้อต่อไปนี้ 1. หลับยาก หรือตื่นง่าย 2. หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย 3. ขาดสมาธิ 4. จับจ้องระวังภัย 5. อาการหวาดกลัวมากต่อสิ่งกระตุ้นเพียงเล็กน้อย E. อาการในข้อ B,C,D นานเกิน 1 เดือน F. อาการทำให้เกิดปัญหาในการปรับตัวอย่างมาก ชัดเจน ต่อ สังคม อาชีพ และหน้าที่สำคัญของชีวิต
ประเภทของ PTSD 1. ประเภทเฉียบพลัน Acute : อาการน้อยกว่า 3 เดือน 2. ประเภทเรื้อรัง Chronic : อาการมากกว่า 3 เดือน 3. ประเภทอาการเกิดช้า With delayed onset : การเกิดอาการหลังเหตุภัยพิบัติ มากกว่า 6 เดือน
การวินิจฉัยแยกโรค โรคต่อไปนี้เป็นโรคที่ต้องแยกโรค โดยใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรค 1. Acute stress disorder. 2. Adjustment disorders. 3. Panic disorder. 4. Generalized anxiety disorder. 5. Major depressive disorder (MDD) 6. Attention-Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) 7. Substance use disorders. 8. Dissociative disorders. 9. Conduct disorder. 10. Borderline or other personality disorder. 11. Schizophrenia or other psychotic disorder. 12. Malingering. 13. Factitious disorder
การช่วยเหลือเบื้องต้น การช่วยเหลือผู้ที่เผชิญภัยพิบัติ เป็นการช่วยเหลือที่ดำเนินการร่วมกับทีมช่วยเหลือทางด้านร่างกาย เพื่อให้ผู้ประสบภัยพ้นภาวะอันตรายทางร่างกาย และประคับประคองทางจิตใจไปพร้อมกับการช่วยเหลือด้านอื่นๆ การช่วยเหลือภายใน 24 ชั่วโมงแรก 1. จัดสิ่งแวดล้อมให้สงบ เกิดความมั่นคงทางจิตใจ · จัดหาสถานที่ปลอดภัย สงบ เงียบ เป็นสัดส่วน ให้ความช่วยเหลือทางร่างกาย อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค การบาดเจ็บ การพักผ่อน · จัดให้ครอบครัวได้อยู่ร่วมกัน หรือมีบุคคลใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย 2. ป้องกันการซ้ำเติมทางจิตใจ (Retraumatization) อาจเกิดจากสถานการณ์ ควรหาทางหลีกเลี่ยงป้องกัน ต่อไปนี้ · การสัมภาษณ์เพื่อหาข้อมูล การหาข่าวของสื่อมวลชน · การรับรู้ข่าวเกี่ยวกับภัยพิบัติ จากรายการโทรทัศน์ · การพูดคุยกันโดยไม่มีผู้ช่วยเหลือ · ข่าวลือที่ไม่มีผู้แก้ไข 3. การปฐมพยาบาลทางจิตใจ (Psychological First Aid) · รับฟังอย่างสงบ ไม่กระตุ้นให้เล่ามากเกินไป
· ให้ความรู้เบื้องต้น เพื่อให้เข้าใจอาการ และรู้สึกว่าไม่ได้ผิดปกติที่มีอาการทางจิตใจเช่นนี้ มีคนอื่นๆเป็นเช่นกัน อาการจะหายได้ และมีวิธีรักษาให้หายได้โดยเร็ว ไม่ใช่อาการของโรคจิตโรคประสาท · สอนวิธีการคลายความเครียดและอาการด้วยตนเอง ด้วยวิธี ฝึกการผ่อนลมหายใจ(Breathing exercise) 4. เบนความสนใจจากอาการและเหตุการณ์ · ให้กลับเข้าสู้การเรียนตามปกติโดยเร็ว · จัดกิจกรรมเป็นช่วงๆ · ให้กลุ่มช่วยเป็นเพื่อน · ป้องกันการเก็บตัว การอยู่ตามลำพัง การหลบเลี่ยงกิจกรรมต่างๆ
การช่วยเหลือต่อมาใน 4 สัปดาห์แรก 1. จัดระบบดูแลให้ปลอดภัยมีความมั่นคงทางจิตใจ · รวบรวมผู้ที่รอดชีวิต รักษาอาการทางกาย · สำรวจอาการทางจิตใจ บันทึกอาการทางจิตใจอย่างละเอียด ความเครียด และความกลัว ความรู้สึกว่าตนเองผิด · การช่วยเหลือให้ได้พบพ่อแม่ญาติพี่น้อง และกลับเข้าอยู่ในครอบครัวโดยเร็ว เด็กที่ยังไม่พบญาติ ให้มีคนดูแลอย่างต่อเนื่องโดยพ่อแม่หรือญาติทดแทนให้ · ให้ข้อมูลเพื่อให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัย ไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำซ้อน โดยเฉพาะระบบการช่วยเหลือและเตือนภัย การระวังตัวที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ 2. การช่วยเหลือทางจิตใจ · ให้ความรู้กับผู้ประสบภัย พ่อแม่ เด็กให้เข้าใจผลทางจิตใจที่อาจเกิดขึ้น อาจจัดเป็นเป็นกลุ่มหรือรายบุคคล · สื่อสารให้ชุมชนมั่นใจในการดูแลที่เป็นระบบ ความปลอดภัย มีความหวังต่อการช่วยเหลือ ให้ชุมชนได้รับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ · ป้องกันการเกิดผลต่อจิตใจซ้ำซ้อน หลีกเลี่ยงการสัมภาษณ์ที่ไม่จำเป็นต่อการรักษา การสัมภาษณ์เพื่อการนำเสนอข่าว การชมข่าวที่เสมือนจริงเหมือนเผชิญเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ ข่าวซึ่งมีลักษณะคุกคาม น่าหดหู่ ไม่มีทางออก · ให้ทำกิจกรรมเหมือนเดิมโดยเร็ว ได้แก่ การทำงาน การเรียน การเล่น การช่วยเหลือครอบครัว อย่าปล่อยให้อยู่เฉย อย่าทอดทิ้งเด็ก ควรมีคนดูแลตลอดเวลา · เปิดโอกาสให้ผู้ประสบภัยแสดงออก ความคิดเห็น ความสงสัย ไม่ปิดกั้นการแสดงความรู้สึก · ใช้กลุ่มกิจกรรมขนาดเล็ก ประมาณ 7-15 คน มีกิจกรรมเบนความสนใจ หรือ กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ · ส่งเสริมการเล่นในเด็ก ให้เด็กได้เล่น อธิบายเด็กว่าการเล่นในขณะนี้ไม่ใช่เรื่องผิด ใช้กิจกรรมกลุ่มที่เปิดโอกาสให้เด็กแสดงออก และเกิดความรู้สึกสนุกสนาน ผ่อนคลาย ฝึกใจให้สงบ กิจกรรมที่ใช้ได้แก่ วาดรูป เล่านิทาน ศิลปะประดิษฐ์ เกม เพลง-ดนตรี เต้นแอโรบิค กีฬา อาจจัดเป็นกลุ่ม ในกลุ่มกิจกรรม ถ้าเด็กต้องการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้น ให้เปิดโอกาส แสดงความคิด ระบายความรู้สึกและความกลัว โดยมีบรรยากาศที่ประคับประคอง แพทย์ช่วยสรุป และเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ที่เด็กไม่เข้าใจ หรือสงสัยให้ทุกคนเข้าใจอย่างง่ายๆ และไม่น่ากลัว เหมาะสมกับสภาพอารมณ์เด็ก และช่วยแก้ไขความคิดหรือความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง วิธีการป้องกันและแก้ไขเหตุการณ์เช่นนี้ · ถ้าเด็กยังไม่พร้อมที่จะเล่าเหตุการณ์ ไม่ควรบังคับเด็ก ให้ความสนใจต่ออาการทางร่างกายและจิตใจแทนไปก่อน
3. การช่วยเหลือทางสังคมสิ่งแวดล้อม · ส่งเสริมให้ผู้ประสบภัยเข้าสู่กิจกรรมที่เป็นกิจวัตรตามเดิมโดยเร็ว เช่น การกิน การนอน การช่วยงานบ้าน การทำงาน ในเด็กให้ไปโรงเรียนตามปกติโดยเร็ว ส่งเสริมกิจกรรมและการเล่นของเด็ก โดยเฉพาะการเล่นเป็นกลุ่ม ในวัยรุ่นให้มีบทบาทช่วยเหลือครอบครัวและช่วยเหลือชุมชนส่วนรวม · ส่งเสริมผู้นำชุมชนให้มีกิจกรรมช่วยเหลือกัน ให้เป็นอาสาสมัครบำเพ็ญประโยชน์ · ส่งเสริมให้ครอบครัว ชุมชน สิ่งแวดล้อมที่เสียหายจากภัยพิบัติ กลับคืนสู่สมดุลโดยเร็ว
4. การค้นหาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ช่วยเหลือและส่งต่อ · การคัดกรองผู้ที่มีปัญหา โดยใช้เครื่องมือคัดกรอง(ภาคผนวก) และการสัมภาษณ์ · การติดตามผู้ที่มีความเสี่ยง หรือมีอาการมากในระยะแรก อย่างต่อเนื่อง 6-12 เดือน
· ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ยังมีอาการทางจิตเวช เช่น ความกลัว พฤติกรรมหลีกเลี่ยง ด้วยวิธีการให้คำปรึกษาตามแนวทางการรักษาพฤติกรรมและความคิดบำบัด · สร้างระบบส่งต่อและแนะนำให้ผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตไปรับบริการที่เหมาะสม สะดวก และไม่เกิดความอาย แนะนำว่า อาการต่างๆที่ยังเกิดขึ้นนั้น มิใช่โรคจิตโรคประสาท เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับคนทั่วไป อาการเหล่านั้นรักษาได้ การรักษาช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
การรักษา Post-Traumatic Stress Disorder ทางการแพทย์ 5-7 การรักษาขึ้นกับอาการ ที่มีความแตกต่างกัน และระดับของผู้ให้บริการมีหลากหลายวิธีร่วมกัน การรักษาที่ไม่ต้องใช้ยา 1. การรักษาทางจิตใจ มีหลายแบบ ได้แก่ 1.1 Trauma-focused therapy สำรวจและพูดคุยกันในเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แนะนำการผ่อนคลาย relaxation, การเผชิญกับสิ่งที่ทำให้ตื่นกลัว(desensitization/exposure techniques) แก้ไขความคิดและความเชื่อที่ผิดที่เกี่ยวกับอาการหรือเหตุภัยพิบัตินั้น ฝึกให้ควบคุมความคิด ความรู้สึก อารมณ์ และพฤติกรรมของตนเองได้ เอาชนะอาการต่างๆที่เกิดขึ้นได้ แก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม 1.2 Cognitive-behavior therapy 1.3 Prolonged exposure therapy 1.4 EMDR (Eye Movement and Desensitization Reprocessing) 2. Insight-oriented, interpersonal, and psychodynamic/psychoanalytic psychotherapy อาจใช้ได้กับบางคน 3. การรักษาแบบอื่นๆ ได้แก่ Family Therapy, Trauma-focused parental therapy ที่สำรวจและแก้ไขที่จิตใจ อารมณ์ของพ่อแม่ วิธีการที่เหมาะสมของพ่อแม่ที่จะช่วยเด็ก 4. กลุ่มบำบัด แบบช่วยเหลือกัน กลุ่มในโรงเรียน ชุมชน กลุ่มให้ความรู้ 5 การใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกัน 2. การจัดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ได้แก่ Psychoeducation ให้ความรู้แก่ผู้ที่ป่วย เด็ก พ่อแม่ ครู ผู้เกี่ยวข้องกับเด็ก ถึงอาการ การดำเนินโรค การรักษา และการพยากรณ์โรค PTSD การสร้างบ้านที่อยู่อาศัย การเลี้ยงดู การช่วยเหลือครอบครัวให้ได้พบกันและอยู่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่งโดยเร็ว ในเด็ก จัดครอบครัวทดแทนสำหรับเด็กที่ยังไม่พบพ่อแม่ จัดโรงเรียนให้เด็กรีบกลับเข้าเรียนโดยเร็ว การจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กกลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วที่สุด การจัดที่อยู่อาศัยให้มั่นคง ปลอดภัย มีระบบการป้องการเกิดภัยพิบัติซ้ำ การช่วยเหลือทางกายภาพ การเงิน การฟื้นฟูชุมชน การรักษาด้วยยา 1. Antidepressants (SSRIs, tricyclic antidepressants) SSRI (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) ได้แก่ Sertraline Paroxitine Fluoxitine และ Venlafaxine XR ( สองตัวแรกได้รับการยอมรับให้ใช้ใน ประเทศสหรัฐอเมริกา) ปรับขนาดยา เริ่มจากขนาดน้อย คอยสังเกตผลข้างเคียงของยา จนอาการดีขึ้น แล้วคงไว้6-12 เดือน ถ้าอาการสงบดีจึงค่อยๆลดและหยุดยา เด็กและวัยรุ่นที่เป็น PTSD อย่างเดียว การใช้ยาควรพิจารณาเป็นรายๆ( Off label) เนื่องจากยังไม่มีการวิจัยสนับสนุน 2. Psychostimulants หรือ adrenergic agonists ( clonidine) ในเด็กที่มีอาการโรคสมาธิสั้น 3. Antianxiety medications (benzodiazepines, propranolol) ไม่แนะนำให้ใช้ใน PTSD ถ้ามีอาการเครียดหรือนอนไม่หลับ แนะนำให้ใช้ tricyclic antidepressant
โรคทางจิตเวชที่เฝ้าระวังหลังภัยพิบัติ 7 กรมสุขภาพจิตกำหนดโรคและภาวะที่เฝ้าติดตามในประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ ดังนี้ 1. Post-Traumatic Stress Disorder 2. Major Depressive Disorder and Suicide 3. Substance Use Disorder
การรักษาทางการแพทย์ ใช้รูปแบบการรักษาแบบองค์รวม(holistic approach) เน้นเรื่องการช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยทุกคน การฟื้นฟูชุมชนให้กลับเป็นปกติโดยเร็ว คัดกรองผู้ที่มีปัญหา ช่วยเหลือตามสภาพปัญหา และการวินิจฉัยโรค รักษา ป้องกันโรคที่พบร่วม และติดตามอย่างต่อเนื่อง
เอกสารอ้างอิง 1. Lopez-Ibor JJ, Christodoulou G, Maj M, Sartorius N, Okasha A. eds. Disasters and mental health. Chichester: John Wiley & Sons,2005. 2. Yehuda R, Davidson J. Clinicians manual on posttraumatic stress disorder. Singapore: Science Press Ltd.,2000. 3. พนม เกตุมาน. ใน : คู่มือแพทย์ ความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย Post-traumatic stress disorder. พนม เกตุมาน. สมุทรปราการ : บริษัท พรีทีมมาร์เก็ตติ้ง จำกัด, 2548. 4. American Psychiatric Association. Diagnostic and statistical manual of mental disorders. 4th ed. (DSM IV). Washington DC: APA; 1994;424-32. 5. American Academy of Child and Adolescent Psychiatry. Practice parameters for the assessment and treatment of children and adolescents with posttraumatic stress disorder. J Am Acad Child Adolesc Psychiatry 1998; 37(10S) Supp;4S-26S. 6. World Health Organization Regional Office for South-East Asia. Manual for community level workers to provide psychosocial support to communities affected by the tsunami disaster(draft). New Delhi, 2005. 7. สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต. คู่มือสำหรับบุคลากรสุขภาพจิต ในการดูแลช่วยเหลือเด็กที่ประสบภัยพิบัติ. กรุงเทพมหานคร : เอ็กซ์ปอร์ต อิมปอร์ต แอนด์ ไอที, 2548.
|
คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กทม 10300 โทร. 0-2243-2142 0-2668-9435
ส่งเมล์ถึง
panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
|