บริษัทคลินิคจิต-ประสาท |
|
กลุ่มบำบัดแบบช่วยเหลือกันเอง Self-Help Group ผศ. นพ. พนม เกตุมาน
บทนำ การใช้กลุ่มบำบัดในผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น มีประโยชน์มาก ในผู้ป่วยโรคทางร่างกาย หรือโรคทางจิตเวช การเรียนรู้ในกลุ่มส่งเสริมให้เด็กเกิดความรู้สึกร่วมกัน อยากช่วยเหลือกัน เรียนรู้จากเด็กด้วยกันเอง เกิดความภาคภูมิใจในตนเองที่ตนเองเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ฝึกทักษะบางอย่างที่ไม่สามารถฝึกในที่อื่น ประหยัดเวลา และการเรียนรู้ในกลุ่มสอดคล้องกับพัฒนาการทางสังคมทั้งเด็กและวัยรุ่น
ทฤษฎีพื้นฐาน1 กลุ่มบำบัดแบบช่วยเหลือกันเอง ใช้ทฤษฎีพื้นทางจาก Cognitive-behavior therapy ที่มุ่งให้เกิดการเรียนรู้ทางความคิด แก้ไขการคิดที่ไม่เหมาะสม เปลี่ยนและสร้างความคิดที่ดี โดยปรับการรักษาเป็นแบบกลุ่ม ใช้รูปแบบการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม(Group counseling) ให้สมาชิกกลุ่มทุกคนมีบทบาทในการช่วยเหลือกัน ส่งเสริมการแสดงออกและเรียนรู้จากกัน ช่วยเหลือกันแบบกลุ่มช่วยเหลือกันเอง(Self- help group) 2-3
การจัดกลุ่ม การจัดกลุ่มจัดได้หลายแบบ ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของกลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่มีลักษณะหรือปัญหาเดียวกัน (Homogeneous group) คัดเลือกผู้ป่วยที่เป็นปัญหาคล้ายคลึงกัน เช่น ป่วยเป็นโรคเดียวกัน มีประโยชน์ในโรคที่ต้องการให้เด็กเรียนรู้ในการปรับตัว การดำเนินชีวิต การแก้ไขปัญหา ในเรื่องหรือสถานการณ์เดียวกัน ได้แก่ กลุ่มโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย(post-trumatic stress disorder) โรคซึมเศร้า โดยมีอาการ ระยะเวลาที่เป็นหรือรักษาที่แตกต่างกัน กลุ่มที่มีลักษณะหรือปัญหาต่างกัน (Heterogeneous group) คัดเลือกผู้ป่วยที่เป็นปัญหาต่างกันกัน ป่วยคนละโรค ใช้ในการเรียนรู้สำหรับการดำเนินชีวิต การแก้ไขปัญหาทั่วไป เพศ จัดได้ทั้งแบบคละเพศ หรือแยกเพศ ขึ้นกับสภาพปัญหา และวัตถุประสงค์ อายุ จัดกลุ่มตามอายุได้ 2 ระดับอายุ ที่ไม่ควรปะปนกัน เนื่องจากระดับพัฒนาการและการเรียนรู้จะแตกต่างกันมาก ดังนี้ 1. กลุ่มเด็ก อายุ 6-12 ปี 2. กลุ่มวัยรุ่น อายุ 12-18 ปี จำนวนสมาชิกในกลุ่ม กลุ่มที่ทำได้มีประสิทธิภาพ สมาชิกควรมีจำนวนประมาณ 7 -15 คน เวลา พบกันสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์(รวม 8 ครั้ง) ครั้งๆละ 90 นาที ผู้รักษา ประกอบด้วยผู้นำกลุ่ม ( therapist) 1 คน และผู้ช่วยผู้นำกลุ่ม(co-therapist)อีก 1 คน คุณสมบัติของผู้นำกลุ่ม 1. มีความรู้ เรื่องโรคทางกาย หรือโรคทางจิตเวชที่ผู้ป่วยเป็น 2. มีความรู้ และทักษะ เรื่อง กลุ่มบำบัดขนาดเล็ก (small group psychotherapy or self help group) 3. มีทัศนคติดีต่อการรักษาแบบกลุ่ม แบบองค์รวม(holistic approach) บทบาทของผู้นำกลุ่ม 1. เริ่มต้นกลุ่ม2. ดำเนินการ กิจกรรมกลุ่มให้เป็นไปตามที่วางแผนไว้ 3. กระตุ้นให้สมาชิกกลุ่มแสดงออก มีส่วนร่วมในกลุ่มอย่างถ้วนหน้ากัน 4. ยับยั้งการแสดงออกของสมาชิกกลุ่มบางคนที่แสดงออกมากเกินไป ไม่ตรงประเด็น หรือไม่เหมาะสม 5. เปิดโอกาสให้สมาชิกกลุ่มคนที่ไม่กล้า ไม่มีโอกาส ได้แสดงออก 6. รักษากฎกติกาของกลุ่ม 7. ดำเนินกลุ่มให้เป็นไปตามเวลาที่วางแผนไว้ 8. ยุติกลุ่มตรงตามเวลา คุณสมบัติของผู้ช่วยนำกลุ่ม เช่นเดียวกับผู้นำกลุ่ม บทบาทของผู้ช่วยนำกลุ่ม · ช่วยผู้นำกลุ่ม ดำเนินกิจกรรมตามแผนการที่วางไว้ · สังเกตความเป็นไปของกลุ่ม โดยเฉพาะในบางคนที่ผู้นำกลุ่มไม่เห็น(เช่น คนที่นั่งข้างๆผู้นำกลุ่ม หรือคนที่ไม่ได้แสดงออก) · ในขณะที่ผู้นำกลุ่มกำลังสนใจฟังสมาชิกบางคน อาจมีปฏิกิริยาจากสมาชิกอีกคน ที่ผู้นำกลุ่มไม่เห็น แต่มีความสำคัญ อาจขออนุญาตผู้นำกลุ่มแทรก หรือเสริมในเรื่องที่คิดว่ามีความสำคัญต่อการเรียนรู้ในกลุ่ม การคัดเลือกผู้ป่วย(inclusion criteria) 1. มีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น 2. สามารถสื่อสาร แสดงความคิดเห็นได้ 3. ร่วมมือในการเข้ากลุ่ม เกณฑ์การคัดผู้ป่วยออกจากกลุ่ม (exclusion criteria) 1. มีอาการหวาดระแวง ไม่มีอาการโรคจิต หรือหวาดระแวง 2. มีอาการทางร่างกายรุนแรงมากจนเป็นอุปสรรคต่อการร่วมกลุ่ม การเตรียมผู้ป่วย 1. อธิบายให้ผู้ป่วยทราบวัตถุประสงค์ของการรักษาแบบกลุ่มบำบัด ประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าร่วมกลุ่ม 2. อธิบายลักษณะของกลุ่ม ขั้นตอนการรักษา ผู้รักษา วันเวลาที่จะนัดพบกัน จำนวนครั้งของการรักษา บทบาทของสมาชิกกลุ่ม กฎกติกาของกลุ่ม การเก็บรักษาความลับของกันและกัน การติดตามต่อเนื่องหลังยุติกลุ่ม ค่ารักษา ค่ารถ การอำนวยความสะดวก 3. สอบถามความสมัครใจ 4. เปิดโอกาสให้ซักถาม 5. นัดวันเวลา สถานที่ ที่เริ่มกลุ่มการเตรียมตัวมาเข้ากลุ่มครั้งแรก การแต่งกาย ข้อดีของการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม · ทำได้ง่าย สามารถทำได้ในโรงเรียน ครูสามารถทำได้ ประหยัดเวลา · เหมาะสมกับวัยรุ่น เกิดความเข้าใจเห็นใจอยากช่วยเหลือกัน · ฝึกทักษะสังคมได้ดี · การประคับประคองทางอารมณ์เกิดได้มาก
วิธีการในกลุ่ม ในกรณีผู้ป่วยโรคทางร่างกาย ที่มีความเครียดหรือปัญหาทางจิตใจ ดำเนินการโดยพบกัน ประมาณ 8-12 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ 1 วัตถุประสงค์ 1. ผู้ป่วยรู้จักกัน มีความรู้สึกผ่อนคลาย 2. ผู้ป่วยมีทักษะในการแสดงออก และเปิดเผยตัวเอง ต่อผู้อื่น 3. ผู้ป่วยมีความเข้าใจวัตถุประสงค์ของกลุ่ม รู้ขั้นตอนการทำกลุ่ม มีส่วนร่วมในกลุ่ม 4. มีทัศนคติที่ดี อยากมาร่วมกิจกรรมกลุ่ม กิจกรรม 1. แนะนำตัวผู้นำกลุ่ม ผู้ช่วยผู้นำกลุ่ม สถานที่ 10 นาที 2. ผู้นำกลุ่ม ให้ผู้ป่วยแนะนำตัว (แนะนำตัวเอง หรือให้เพื่อนช่วยแนะนำเพื่อน ใช้เกม เช่นแลกเปลี่ยนนามบัตร เกมกระซิบ เกมลมเพลมพัด เกมปลาเล็กปลาใหญ่) 30 นาที 3. แนะนำวัตถุประสงค์ของกลุ่ม ตามที่ทีมผู้รักษาวางแผนไว้ 5 นาที 4. ขอให้สมาชิกกลุ่มแสดงความคิดเห็นและความคาดหวัง ทีละคน (round turn) 30 นาที 5. สรุปความต้องการของกลุ่ม 5 นาที 6. แนะนำกติกาของกลุ่ม 5 นาที 7. สอบถามปัญหา 4 นาที 8. นัดหมายพบกันในกลุ่มครั้งต่อไป 1 นาที กติกากลุ่ม 1. การบริหารเวลา (เน้นเรื่องการตรงต่อเวลา ขอให้สมาชิกมาล่วงหน้าก่อนเวลาเริ่มกลุ่มประมาณ 5-10 นาที พบกันที่นั่งรอตามนัดหมาย การเริ่มและเลิกกลุ่มจะตรงเวลา ผู้นำกลุ่มและผู้ช่วยจะคอยกำกับให้เป็นไปตามเวลา เวลาในกลุ่มมีค่ามาก ขอให้ใช้อย่างคุ้มค่า ก่อนเริ่มกลุ่มควรเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อย ) 2. การเข้าร่วมขอให้เข้าครบทุกครั้ง ช่วยกันจัดตารางเวลาให้สามารถมาได้ การพบกันครบทุกคนจะช่วยให้การรักษาแบบกลุ่มได้ผลดี ถ้าติดธุระจำเป็นจริงๆ ขอให้แจ้งกับผู้นำกลุ่มล่วงหน้า หรือเร็วที่สุด 3. การแสดงออกในกลุ่ม ขอให้ทุกคนช่วยกันแสดงความคิด ความรู้สึกร่วมกัน ทั่วถึงกัน ใครต้องการพูดขอให้ส่งสัญญาณ เช่นยกมือขึ้น ผู้นำกลุ่มจะช่วยกำกับเรื่องนี้ ขอให้พูดให้ทุกคนฟัง ไม่พูดเฉพาะเป็นกลุ่มย่อยๆ ปิดโทรศัพท์มือถือ ไม่ใช้โทรศัพท์ระหว่างที่อยู่ในกลุ่ม 4. การเก็บความลับ ไม่นำเรื่องส่วนตัวของเพื่อนสมาชิกด้วยดันไปเปิดเผยนอกกลุ่ม ไม่พบกันนอกกลุ่ม ถ้าบังเอิญพบกันขอให้นำมาแจ้งในกลุ่มในการพบกันครั้งต่อไป 5 นาที
การประเมิน การสังเกตพฤติกรรมสมาชิกกลุ่ม
ครั้งที่ 2 วัตถุประสงค์ 1. ผู้ป่วยรู้จักกันมากขึ้น มีความรู้สึกผ่อนคลาย 2. ผู้ป่วยมีทักษะในการแสดงออก และเปิดเผยตัวเอง ต่อผู้อื่น 3. ผู้ป่วยมีความความสัมพันธ์ในกลุ่มดี เกิด ความผูกพัน(cohesion) 4. ผู้ป่วยมีความรู้สึกเห็นใจผู้อื่น รู้สึกดีที่มีเพื่อนที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน อยากช่วยเหลือกัน 5. ผู้ป่วยได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาตนเอง จากผู้อื่น 6. มีทัศนคติที่ดี อยากมาร่วมกิจกรรมกลุ่ม กิจกรรม 1. Round turn ผู้นำกลุ่มให้ผู้ป่วยเล่าปัญหาของแต่ละคน 40 นาที 2. ผู้นำกลุ่มขอให้สมาชิกกลุ่มช่วยกัน ให้คำแนะนำ เพื่อนสมาชิกด้วยกันเอง 40 นาที 3. ผู้นำกลุ่มส่งเสริมให้กลุ่มเห็นการแก้ปัญหาที่ดี 5 นาที 4. ผู้นำกลุ่มสรุปการเรียนรู้ของกลุ่ม ในครั้งนี้ 4 นาที 5. นัดหมายพบกันในกลุ่มครั้งต่อไป 1 นาที การประเมิน การสังเกตพฤติกรรมสมาชิกกลุ่ม การประชุมหลังกลุ่ม (เฉพาะผู้รักษา และทีม รวมทั้งผู้สังเกตการณ์) 1. สรุปข้อดีของการเรียนรู้ในกลุ่ม 2. สรุปการเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้อง พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง 3. ระดมสมองช่วยคิดหาวิธีการแก้ไข ความคิดที่ไม่ถูกต้อง(cognitive errors) ความเชื่อที่ผิดๆ การปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง(เช่นการกินยาเอง การหยุดการรักษา) หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ได้ในกลุ่มในวันนั้น เพื่อหาทางแก้ไขในกลุ่มครั้งที่ 3
ครั้งที่ 3 วัตถุประสงค์ 1. ผู้ป่วยรู้จักกันมากขึ้น มีความรู้สึกผ่อนคลาย 2. ผู้ป่วยมีทักษะในการแสดงออก และเปิดเผยตัวเอง ต่อผู้อื่น 3. ผู้ป่วยมีความความสัมพันธ์ในกลุ่มดี เกิด ความผูกพัน(cohesion) 4. ผู้ป่วยมีความรู้สึกเห็นใจผู้อื่น รู้สึกดีที่มีเพื่อนที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน อยากช่วยเหลือกัน 5. ผู้ป่วยได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาตนเอง จากผู้อื่น 6. มีทัศนคติที่ดี อยากมาร่วมกิจกรรมกลุ่ม กิจกรรม 1. Round turn ผู้นำกลุ่มให้ผู้ป่วยเล่าปัญหาของแต่ละคน(ต่อ) 40 นาที 2. ผู้นำกลุ่มขอให้สมาชิกกลุ่มช่วยกัน ให้คำแนะนำ เพื่อนสมาชิกด้วยกันเอง(ต่อ) 40 นาที 3. ผู้นำกลุ่มส่งเสริมให้กลุ่มเห็นการแก้ปัญหาที่ดี 5 นาที 4. ผู้นำกลุ่มสรุปการเรียนรู้ของกลุ่ม ในครั้งนี้ 4 นาที 5. นัดหมายพบกันในกลุ่มครั้งต่อไป 1 นาที การประเมิน การสังเกตพฤติกรรมสมาชิกกลุ่ม การประชุมหลังกลุ่ม (เฉพาะผู้รักษา และทีม รวมทั้งผู้สังเกตการณ์) 1. สรุปข้อดีของการเรียนรู้ในกลุ่ม 2. สรุปการเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้อง พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง 3. ระดมสมองช่วยคิดหาวิธีการแก้ไข ความคิดที่ไม่ถูกต้อง(cognitive errors) ความเชื่อที่ผิดๆ การปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ได้ในกลุ่มในวันนั้น เพื่อหาทางแก้ไขในกลุ่มครั้งที่ 4
ครั้งที่ 4 วัตถุประสงค์ 1. ผู้ป่วยมีทักษะในการแสดงออก และเปิดเผยปัญหาตนเอง เสนอทางแก้ไขปัญหาผู้อื่น 2. ผู้ป่วยมีความความสัมพันธ์ในกลุ่มดี เกิด ความผูกพัน(cohesion) 3. ผู้ป่วยมีความรู้สึกเห็นใจผู้อื่น รู้สึกดีที่มีเพื่อนที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน อยากช่วยเหลือกัน 4. ผู้ป่วยได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาตนเอง จากผู้อื่น 5. มีทัศนคติที่ดี อยากมาร่วมกิจกรรมกลุ่ม กิจกรรม 1. ผู้นำกลุ่มขออาสาสมัครสรุป การเรียนรู้ในกลุ่มครั้งที่ 3 5 นาที 2. Round turn ผู้นำกลุ่มให้ผู้ป่วยเล่าปัญหาของแต่ละคน(ต่อ) 30 นาที 3. ผู้นำกลุ่มขอให้สมาชิกกลุ่มช่วยกัน ให้คำแนะนำ เพื่อนสมาชิกด้วยกันเอง(ต่อ) 40 นาที 4. ผู้นำกลุ่มสรุป และส่งเสริมให้กลุ่มเห็นการแก้ปัญหาที่ดี 10 นาที 5. ผู้นำกลุ่ม ขออาสาสมัครสรุปการเรียนรู้ของกลุ่ม ในครั้งนี้ 4 นาที 6. นัดหมายพบกันในกลุ่มครั้งต่อไป 1 นาที
การประเมิน การสังเกตพฤติกรรมสมาชิกกลุ่ม การประชุมหลังกลุ่ม (เฉพาะผู้รักษา และทีม รวมทั้งผู้สังเกตการณ์) 1. สรุปข้อดีของการเรียนรู้ในกลุ่ม 2. สรุปการเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้อง พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง 3. ระดมสมองช่วยคิดหาวิธีการแก้ไข ความคิดที่ไม่ถูกต้อง(cognitive errors) ความเชื่อที่ผิดๆ การปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ได้ในกลุ่มในวันนั้น เพื่อหาทางแก้ไขในกลุ่มครั้งที่ 5
ครั้งที่ 5 วัตถุประสงค์ 1. ผู้ป่วยมีความความสัมพันธ์ในกลุ่มดี เกิด ความผูกพัน(cohesion) 2. ผู้ป่วยได้ความรู้เรื่อง โรคสะเก็ดเงิน 3. มีทัศนคติที่ดี อยากมาร่วมกิจกรรมกลุ่ม กิจกรรม 1. ผู้นำกลุ่มให้สมาชิกสรุปการเรียนรู้ในครั้งที่ 4 5 นาที 2. ผู้นำกลุ่มสรุปความเชื่อที่ผิดๆ ที่ได้จากกลุ่ม หรือจากผู้ป่วยโรคเดียวกัน ให้กลุ่มช่วยกันแก้ไน และส่งเสริมวิธีการที่ 10 นาที 3. ผู้นำกลุ่มให้ความรู้ เกี่ยวกับโรคที่เป็น 40 นาที และความสัมพันธ์ระหว่างอาการและความเครียด หรือสาเหตุส่งเสริมต่างๆ การรักษาและป้องกัน 4. ถามตอบ 15 นาที 5. ผู้นำกลุ่มให้สมาชิกกลุ่ม 1 คน เป็นตัวแทนสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ 4 นาที 6. นัดหมายพบกันในกลุ่มครั้งต่อไป 1 นาที การประเมิน การสังเกตพฤติกรรมสมาชิกกลุ่ม การประชุมหลังกลุ่ม (เฉพาะผู้รักษา และทีม รวมทั้งผู้สังเกตการณ์) 1. สรุปสิ่งที่กลุ่มผู้ป่วยยังขาด ด้านความรู้ 2. สิ่งทีผู้ป่วยยังขาดด้านทักษะ เช่น การเผชิญความเครียด การผ่อนคลายตนเอง การแก้ไขปัญหา
ครั้งที่ 6 วัตถุประสงค์ 1. ผู้ป่วยมีความสามารถบอกความสัมพันธ์ระหว่างความเครียด ซึมเศร้า หรืออาการทางกายที่เกิดร่วมกัน กับอาการของโรค 2. ผู้ป่วยสามารถหาสาเหตุของความเครียด ปัญหาทางจิตใจและพฤติกรรมของตนเองได้ 3. ผู้ป่วยสามารถจัดการกับความเครียดและอารมณ์ไม่ดีอื่นๆของตนเองได้ วิธีการ 1. ผู้นำกลุ่มให้สมาชิก 1 คนอาสาสมัครสรุปผลการเรียนรู้ในกลุ่มครั้งที่ 5 5นาที 2. ผู้นำกลุ่มให้สมาชิกกลุ่มเล่าประสบการณ์ของตนเอง เรื่องความเครียด สาเหตุของความเครียด ผลที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับอาการทางกาย และการแก้ไขความเครียดนั้นเท่าที่เคยทำมา 15 นาที 3. ผู้นำกลุ่มสรุปวิธีการจัดการกับความเครียดของผู้ป่วยด้วยกันเอง ชมเชยวิธีการที่ถูกต้อง 5 นาที 4. ผู้นำกลุ่มสรุปให้กลุ่มเห็นความสำคัญของการจัดการกับอารมณ์ 5 นาที 5. ผู้นำกลุ่มสอนให้สมาชิกกลุ่มปฏิบัติ ด้วยการคลายเครียดด้วยการฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ 30 นาที 6. สอบถามความรู้สึกหลังการปฏิบัติ 5 นาที 7. ให้กลุ่มช่วยคิดเทคนิคคลายเครียดด้วยวิธีอื่น 15 นาที 8. ผู้นำกลุ่มสรุปเทคนิควิธีการคลายเครียด และมอบหมายการบ้าน ให้บันทึกการปฏิบัติด้วยการฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ทุกวันๆละ 30 นาที ในช่วง 7 วันต่อไป 5 นาที 9. ผู้นำกลุ่มให้สมาชิกสรุป 4 นาที 10. นัดหมายครั้งต่อไป 1 นาที การประเมิน การสังเกตพฤติกรรมสมาชิกกลุ่ม การประชุมหลังกลุ่ม (เฉพาะผู้รักษา และทีม รวมทั้งผู้สังเกตการณ์) 1. สรุปข้อดีของการเรียนรู้ในกลุ่ม 2. สรุปการเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้อง พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง
ครั้งที่ 7 วัตถุประสงค์ 1. ผู้ป่วยมีทักษะคลายความเครียดของตนเองได้ด้วยการฝึกสมาธิ(concentration meditation) 2. ผู้ป่วยมีความรู้เรื่องการใช้ดนตรีเพื่อคลายเครียด วิธีการ 1. ผู้นำกลุ่มให้สมาชิก 1 คนอาสาสมัครสรุปผลการเรียนรู้ในกลุ่มครั้งที่ 6 5 นาที 2. สมาชิกกลุ่มนำเสนอผลงาน การบ้านการฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ใน 7 วันที่ผ่านมา ผู้นำกลุ่มชมเชยผู้ที่ทำได้มาก ให้เป็นตัวอย่างของกลุ่ม 15 นาที 3. ผู้นำกลุ่มให้สมาชิกกลุ่มเล่าประสบการณ์ของตนเอง ในการฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เท่าที่ทำมา ปัญหาอุปสรรคต่างๆ 15 นาที 4. ผู้นำกลุ่มสอนให้สมาชิกกลุ่มฟังเพลงที่ผ่อนคลาย 10 นาที 5. ผู้นำกลุ่มสอนให้สมาชิกกลุ่มปฏิบัติสมาธิ ด้วยการกำหนดลมหายใจ 30 นาที 6. สอบถามความรู้สึกหลังการปฏิบัติ 5 นาที 7. ผู้นำกลุ่มสรุปเทคนิควิธีการคลายเครียด ทั้ง 2 วิธี และมอบหมายการบ้าน ให้บันทึกการปฏิบัติสมาธิทุกวัน วันละ 30 นาที ในช่วง 7 วันต่อไป 5 นาที 8. ผู้นำกลุ่มให้สมาชิกสรุป 4 นาที 9. นัดหมายครั้งต่อไป 1 นาที การประเมิน การสังเกตพฤติกรรมสมาชิกกลุ่ม การประชุมหลังกลุ่ม (เฉพาะผู้รักษา และทีม รวมทั้งผู้สังเกตการณ์) 1. สรุปข้อดีของการเรียนรู้ในกลุ่ม 2. สรุปการเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้อง พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง
ครั้งที่ 8 วัตถุประสงค์ 1. ผู้ป่วยรวบรวมเทคนิควิธีการต่างที่ได้เรียนรู้มาทั้งหมด 7 ครั้ง เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน 2. เตรียมตัวให้ผู้ป่วยหยุดการรักษาแบบกลุ่ม วิธีการ 1. ผู้นำกลุ่มขอเชิญอาสาสมัคร สรุปการเรียนรู้ในครั้งที่ 7 5 นาที 2. Round Turn ให้ทุกคนได้สรุปการเรียนรู้ที่ผ่านมา 7 ครั้ง ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น ความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้ การแก้ไขและป้องกันปัญหา เมื่อไม่มีกลุ่มช่วยเหลือ 40 นาที 3. ผู้นำกลุ่ม และผู้ช่วยผู้นำกลุ่ม สรุป และส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มนำกลับไปปฏิบัติต่อในชีวิตประจำวัน15 นาที 4. ถามตอบข้อสงสัย 20 5. นัดหมายเพื่อติดตามและประเมิน 10 นาที
การประเมินก่อนและหลังทำกลุ่ม การประเมินใช้แบบสอบถาม ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ครั้งที่1 ทำเมื่อจบกลุ่มครั้งสุดท้าย ทันที ครั้งที่ 2 หลังจากยุติกลุ่ม 8 สัปดาห์ ครั้งที่ 3 หลังจากยุติกรรม 24 52 สัปดาห์
ตัวอย่างการใช้กลุ่มบำบัดแบบช่วยเหลือกันเอง 4-5 ตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นการประยุกต์ใช้กลุ่มบำบัดแบบช่วยเหลือกันเอง ในนักเรียนที่ประสบภัยและมีอาการความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย(PTSD) ในโรงเรียนในอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พ.ศ. 2550 กลุ่มเป้าหมาย นักเรียนวัยเรียนหรือวัยรุ่นที่ประสบภัยพิบัติ (victims of disaster) และมีอาการ PTSD วิธีการ 1. แนะนำตัว ผู้นำกลุ่มแนะนำตัวเอง ให้ทุกคนแนะนำตัวเองสั้นๆ ว่าชื่ออะไร ชั้น ที่อยู่ 2. อธิบายวัตถุประสงค์ของการคุยกันเป็นกลุ่ม เวลาที่จะใช้(30-45 นาที) เน้นกติกาของกลุ่ม คือการเรียนรู้จากกันการเปิดเผยและช่วยเหลือกัน ทุกคนจะมีโอกาสเล่าเรื่องของตนเอง และพร้อมที่จะฟัง และช่วยเหลือผู้อื่น 3. ผู้นำกลุ่มเน้นเรื่อง การเก็บรักษาความลับ ไม่นำเรื่องที่คุยกันในกลุ่มไปเปิดเผยภายนอก 4. สอบถามสมาชิกกลุ่มทุกคนว่า ในขณะนี้มีใครมีอาการอย่างไรบ้าง ที่รบกวนการดำเนินชีวิต 5. ผู้นำกลุ่มตั้งคำถามนำ หลังเหตุการณ์ใครมีอาการเหล่านี้ บ้าง เช่น เครียด เสียใจ คิดถึงผู้สูญเสีย ฝันร้าย นอนไม่หลับ คิดวนเวียน กลัว ตกใจง่ายกับเสียงดังๆ หงุดหงิดอารมณ์เสีย เบื่อหน่าย ท้อแท้ เบื่ออาหาร เบื่อชีวิต 6. ให้สมาชิกเล่าว่า เมื่อเกิดอาการขึ้น มีวิธีการแก้ไขอย่างไร ที่ทำแล้วได้ผล 7. ผู้นำกลุ่มถามสมาชิกคนอื่นๆ ว่า จะมีใครมีคำแนะนำเพื่อนบ้าง เปิดโอกาสให้แสดงออกหลายๆวิธี 8. ผู้นำกลุ่มยกวิธีการที่ดีของสมาชิกให้เป็นตัวอย่างแก่คนอื่น แนะนำให้ลองฟังความคิดของกันและกัน ข้อดีของทางเลือกนั้น ส่งเสริมให้หาวิธีดีๆ และนำไปปฏิบัติ 9. ตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ดี ได้แก่ เวลามีเรื่องไม่สบายใจ หาผู้รับฟังที่ดี เช่น เพื่อน ครู พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เปิดเผย การเล่าจะเป็นการระบายความรู้สึก และอาจได้คำแนะนำดีๆ ทางออกแก้ปัญหาที่ดีได้ 10. หากิจกรรมเบนความสนใจ เช่น เล่น เกม กีฬา ศิลปะ ดนตรี กิจกรรมกลุ่ม ทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่น บำเพ็ญประโยชน์ 11. มองโลกในแง่ดี คิดถึงคนที่แย่กว่าเรา เรายังมีข้อดีบางอย่าง หัดมองข้อดีตนเอง 12. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีข้อดี หรือเห็นอะไรดีๆ ได้ข้อคิดอะไรดีๆบ้าง เช่น เห็นความเห็นอกเห็นใจ เห็นน้ำใจของคนอื่นๆ เชื่อว่าคนเราไม่ทิ้งกัน มีเมตตากัน มีคนดีๆเกิดขึ้น แสดงว่าคนเราจำนวนมากอยากทำดีต่อผู้อื่น 13. คิดถึงผู้ที่ตายจากไป แนะนำให้สวดมนต์ ไหว้พระ ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศล ถ้ากลัวสิ่งใดให้เผชิญทีละน้อย 14. สอบถามว่ามีใครคิดว่าเป็นความผิดของตนเอง ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ หรือทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต หรือไม่ได้ช่วยผู้อื่น หรือการเอาตัวรอดทำให้ผู้อื่น 15. วิธีเอาชนะความคิดเช่นนี้ ทำอย่างไร ช่วยกันแนะนำเพื่อน 16. ผู้นำกลุ่มอธิบายให้ฟังว่า อาการต่างๆเหล่านั้น เกิดขึ้นได้ในเด็กที่เผชิญภัยเช่นนี้ จะหายได้ จะควบคุมตนเองได้ ความกลัวสถานที่ เช่น บ้าน หรือ ชายหาด สามารถรักษาได้ง่ายๆ ด้วยการเผชิญสิ่งนั้นทีละน้อย ไม่ใช่โรคจิต โรคประสาท ถ้ายังมีอาการหลังจาก 1 เดือนแล้ว ควรปรึกษาแพทย์ในทีมสุขภาพจิต 17. เปิดเวทีให้สมาชิกกลุ่มเล่าประสบการณ์ตนเอง ใครทำอะไรอยู่ในตอนนั้น แล้วให้ช่วยกันเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบ หาสาเหตุ การแก้ไข และป้องกันตนเองและครอบครัว ใครจะทำอะไรต่อไป 18. ให้ทบทวนความคิดและความรู้สึกตนเองว่า รู้สึกอย่างไร กลัว เครียด เศร้า 19. ให้ช่วยกันหาทางเปลี่ยนความรู้สึกที่ไม่ดีเหล่านั้น 20. แนะนำเทคนิคการเอาชนะอาการต่างๆด้วยตัวเอง การฝึกการผ่อนคลาย เช่นฝึกการหายใจ ใช้วิธีการกำหนดจิตใจให้อยู่กับปัจจุบันตลอดเวลา โดยให้จิตใจจดจ่ออยู่กับลมหายใจ เข้าและออก เมื่อจิตใจไปคิดเรื่องอื่น ให้ดึงกลับมาสู่ลมหายใจอย่างเดิม ทำอย่างต่อเนื่องนานๆ ฝึกประมาณ 5 นาที แล้วช่วยกันเล่าให้กลุ่มฟังว่ารู้สึกอย่างไร (ผ่อนคลาย อาการที่มีสงบลงเอง) ผู้นำกลุ่มสรุปประโยชน์ของการฝึก 21. ในระหว่างดำเนินกลุ่มเมื่อเกิดอาการ ความเครียด ความกลัว ตื่นเต้น กังวลใจ หรือมีรู้สึกที่ไม่ดี ให้ดึงจิตใจมารู้ตัวว่ากำลังคิดเรื่องใด แล้วดึงความคิดกลับมาสู่ลมหายใจเข้าออก จะเรียนรู้ด้วยตัวเองว่า จิตใจอารมณ์สงบลง สามารถเอาชนะอาการต่างๆได้ด้วยตัวเอง ผู้นำกลุ่มสรุปการนำไปใช้นอกกลุ่ม ในการดำเนินชีวิตประจำวัน 22. แนะนำให้ฝึกเป็นประจำ วันละ 10-20 นาที ก่อนนอน และในเวลากลางวันที่ว่าง เป็นการฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง มีพลัง สามารถนำไปใช้ในการเรียนและกิจกรรมอื่นๆ 23. สรุปการเรียนรู้ อาจให้สมาชิกช่วยกันสรุปก็ได้ ใครมีคำถาม หรือข้อคิดเห็น 24. นัดหมายครั้งต่อไป คำแนะนำสำหรับผู้รักษาแบบกลุ่ม · สำหรับกลุ่มนักเรียนทั้งหมดที่ประสบภัย ควรให้การช่วยเหลือแบบกลุ่ม อย่างน้อย 1-2 ครั้ง จากการพูดคุยในกลุ่ม ผู้นำกลุ่มสามารถเลือกเด็กกลุ่มเสี่ยง ที่มีอาการมากกว่าคนอื่นๆ หรือมีปัญหาในการเรียน การปรับตัว มาจัดกลุ่มให้คำปรึกษาเพิ่มเติม 8-12 ครั้ง · เนื้อหาในกลุ่มอาจจัดให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ เช่นกลุ่มที่มีอาการมาก อาจฝึกการผ่อนคลายด้วยการหายใจก่อน เพื่อให้อาการสงบ จึงจะดำเนินกลุ่มต่อไป · สำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยง ควรให้การช่วยเหลือแบบกลุ่ม ต่อเนื่อง 8-12 ครั้ง หรือจนกว่าเด็กจะดีขึ้น(ไม่มีอาการ ปรับตัวได้) · ถ้านักเรียนมีอาการหลีกเลี่ยง(เช่น ไม่กล้าไปที่ชายหาด) ควรจัดกลุ่มเผชิญสิ่งที่หลีกเลี่ยง (desensitization group) ในครั้งต่อๆไป
เอกสารอ้างอิง 1. พนม เกตุมาน. Group therapy. ใน : ตำราจิตเวชเด็กและวัยรุ่น. วินัดดา ปิยะศิลป์, พนม เกตุมาน บรรณาธิการ. กรุงเทพมหานคร: บริษัท บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์ จำกัด, 2545:395-8. 2. Seng TK, Nee TS. Group therapy: a useful and supportive treatment for psoriasis patients. Int J Dermatol 1997;36(2):110-2. 3. O'Leary A, Schoor S, Lorig K, Holman HR. A cognitive-behavioural treatment for rheumatoid arthritis. Health Psychol 1998; 7: 527-44. 4. พนม เกตุมาน. การช่วยเหลือเด็กหลังภัยคลื่นยักษ์. ใน : ก้าวสู่...ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพจิตผ้ประสบภัยสึนามิ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เบญจพร ปัญญายงค์ บรรณาธิการ. กรุงเทพมหานคร : บียอนด์ พับลิสชิ่ง จำกัด, 2548 :132. 5. พนม เกตุมาน. การให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม. ใน : คู่มือแพทย์ ความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย Post-traumatic stress disorder. พนม เกตุมาน. สมุทรปราการ : บริษัท พรีทีมมาร์เก็ตติ้ง จำกัด, 2548 : 50-4.
|
คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กทม 10300 โทร. 0-2243-2142 0-2668-9435
ส่งเมล์ถึง
panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
|