บริษัทคลินิคจิต-ประสาท

 ห้องรับแขก

กลับไป ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม      

 

 

 

จิตเวชศาสตร์ชุมชน ในเด็กและวัยรุ่น
Community Psychiatry in Children and Adolescence

ผศ. นพ. พนม  เกตุมาน 

 

 บทนำ

                แนวคิดเรื่องจิตเวชศาสตร์ชุมชน  เกิดขึ้นในตอนกลางของศตวรรษ ที่ 20  เมื่อเกิดปัญหาในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาล  ทำให้มีการพยายามให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแล  ช่วยเหลือ  ฟื้นฟู  และในที่สุดสามารถป้องกันปัญหาสุขภาพจิตได้ในชุมชน  ในจิตเวชเด็กและวัยรุ่น  ใช้หลักการจิตเวชศาสตร์ชุมชน  ในการป้องกันมีประโยชน์ในการส่งเสริม  ป้องกัน  ช่วยค้นหาปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น  และฟื้นฟู  เช่นเดียวกัน  และพบว่า  การป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่เด็ก  ช่วยป้องกันปัญหาจิตเวชในผู้ใหญ่ได้อย่างดี

 

การป้องกันปัญหาสุขภาพจิต (Prevention of mental disorders)

การป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่น  ใช้แนวทางการป้องกันในหลักการของจิตเวชชุมชน  3  ระดับ 1-3  ดังนี้

การป้องกันระดับปฐมภูมิ  (Primary prevention)

การป้องกันระดับปฐมภูมิ  เป็นการป้องกันระดับต้น  ก่อนจะเกิดปัญหาหรือโรคทางจิตเวช  เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผู้ป่วยรายใหม่  เป้าหมายของการป้องกันระดับต้นนี้  คือลด Incidence  หรือ  อุบัติการณ์ของโรคทางจิตเวช

การป้องกันระดับปฐมภูมิ  ทำโดยลดปัจจัยของการเกิดโรค  ลดปัจจัยเสี่ยง (Risk factors) และเพิ่มปัจจัยป้องกันโรค (Protective factors ) ได้แก่  การเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้องในวัยเด็ก  ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อจิตใจ  การป้องกันเน้นที่สาเหตุ

1.        ป้องกันโรคทางร่างกายในแม่และเด็ก  เริ่มตั้งแต่การตั้งครรภ์  การคลอด  ป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท การขาดสารอาหาร  การป้องกันสารพิษ

2.        ส่งเสริมการเลี้ยงดูเด็กที่ถูกต้อง  ตอบสนองความต้องการของเด็กวัยต่างๆตามวัย  การฝึกระเบียบวินัย  รีบแก้ไขการเลี้ยงดูเด็กที่อาจก่อให้เกิดปัญหา  ได้แก่ 

·        การทอดทิ้งเด็ก เด็กจะขาดความรัก เรียกร้องความรัก เอาแต่ใจตนเอง  ก้าวร้าว

·        ทำโทษรุนแรง  เด็กอาจจะก้าวร้าวตาม  หรือหวาดกลัวขาดความกล้า ความมั่นใจตนเอง

·        ตามใจ  เด็กจะเอาแต่ใจตนเอง  เรียกร้อง  เมื่อไม่ได้ดังใจจะก้าวร้าวรุนแรง

·        ช่วยเหลือมาก  เด็กจะคิดไม่เป็น  แก้ไขปัญหาด้วยตนเองไม่ได้  ต้องพึ่งพาผู้อื่น

·        ไม่สม่ำเสมอ  เด็กจะขาดความมั่นคงทางอารมณ์  ไม่มีระเบียบวินัย

3.        ส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว ทั้งโครงสร้างของครอบครัวที่ดี  มีความสัมพันธ์ดี  การสื่อสารชัดเจน  ให้กำลังใจ  ไม่มีแตกแยกแบ่งพรรคแบ่งพวกซึ่งอาจทำให้การเลี้ยงดูไม่เหมือนกัน เมื่อมีความขัดแย้งกัน  มีทางออกที่ถูกต้องนุ่มนวล  แก้ไขโรคทางจิตเวชในครอบครัว  เช่นโรคจิต  โรคประสาท  โรคติดเหล้าและยาเสพติด  เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อเด็กยาวนาน  หรืออาจเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่เด็ก

4.        โรงเรียน  มีระบบการเรียนที่ดี  ครูมีสุขภาพจิตดี  ส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างทัศนคติทางบวกต่อการเรียน  ค้นหาตนเองได้ว่ามีความชอบความถนัดด้านใด  เรียนต่อด้านใด  และมีอาชีพใดในอนาคต

5.        การจัดสิ่งแวดล้อมสังคมที่ดี  มีแบบอย่างที่ดี  ไม่มีปัญหาสิ่งแวดล้อม  ปราศจากสารเสพติด  สิ่งยั่วยุทางเพศ  อบายมุข

6.        การให้ความรู้แก่ประชาชน การป้องกันโรคทางกาย ส่งเสริมสุขภาพทางกาย การฝากครรภ์ ฯลฯ  การเลี้ยงดูเด็กอย่างถูกต้อง  รู้จักการกระตุ้นพัฒนาการตามวัย การส่งเสริมให้ครอบครัวมีคุณภาพมีความรักความอบอุ่น  ความผูกพัน

 

การป้องกันระดับทุติยภูมิ  (Secondary prevention)

                การป้องกันระดับที่สอง  เป็นการป้องกันโรคที่เริ่มเกิดขึ้นแล้ว  มิให้เป็นยาวนาน  เป็นการลดความชุกของโรค(prevalence)  โดยการค้นหาผู้ที่เป็นโรคและรีบให้การรักษาโดยเร็ว (early diagnosis and prompt  treatment)  การรักษาอย่างรวดเร็ว  ทำได้ง่ายกว่า  และผลการรักษาดีกว่าปล่อยเป็นแบบเรื้อรังที่จะรักษายาก

                การป้องกันระดับนี้  จะทำได้โดยให้ความรู้แก่ชุมชนทุกระดับ  และบุคลากรสาธารณสุข  เพื่อให้รู้จักโรคทางจิตเวช  และช่วยส่งต่อผู้ป่วยมารับการรักษาโดยเร็ว

                การรักษาโรคทางจิตเวชปัจจุบันมักจะเน้นให้การรักษาให้ผู้ป่วยกลับมาปกติโดยเร็ว  เพื่อทำงานอยู่ในชุมชนได้

 

การป้องกันระดับตติยภูมิ (Tertiary prevention)

การป้องกันระดับที่สามนี้  จะเน้นการป้องกันการสูญเสียหน้าที่(dysability)  หรือลดImpairment of function  เพื่อให้ผู้ป่วยกลับเข้าสังคมโดยเร็ว 

การป้องกันระดับนี้ทำโดยกิจกรรมฟื้นฟู (rehabilitation) 

 

เส้นทางผู้ป่วยจิตเวช (Psychiatric patient pathway) 4

ผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนจะหาทางรักษาด้วยตนเองตามความรู้,ความเชื่อ,ค่านิยมที่เคยมีมา การรักษาด้วยวิธีการไม่ถูกต้องทำให้ผู้ป่วยไม่หายเป็นเรื้อรัง ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อครอบครัว การเข้าใจเส้นทางของผู้ป่วยจิตเวชจะช่วยให้มีการวางแผนป้องกันปัญหาสุขภาพจิตได้ดีขึ้น

ตามแผนภูมิที่ 1

                ในระดับที่1ผู้ป่วยอาจไม่เข้าใจในอาการของโรคที่ตนเองเป็นจึงไปแสวงหาการรักษาจากหมอบ้าน,หมอผี,หมอไสยศาสตร์ฯลฯการที่ผู้ป่วยจะมาพบบุคลากรทางการแพทย์ระดับต้นในระดับที่2ได้จำเป็นต้องมีขบวนการที่ดีคือตัวกรอง1ซึ่งได้แก่ญาติพี่น้องในครอบครัวที่มีความรู้ถูกต้องรู้ว่าปัญหาสุขภาพจิตควรจะไปแสวงหา การรักษาที่ใด

ตัวกรอง1อาจจะเป็นบุคคลอื่นนอกครอบครัวแต่อยู่ในชุมชนนั้นซึ่งสามารถชักจูงให้ผู้ป่วยและญาติไปหาบริการทางการแพทย์ที่ถูกต้องได้

 

                                ระดับที่ 1                                                ผู้ป่วยอยู่ในชุมชน

                                                                                                                                                                                                                                                                                     ................................................................ตัวกรอง 1

                                ระดับที่ 2           

                                                                                  บริการทางการแพทย์ระดับต้น

                        

                                                                                     ................................................................ตัวกรอง 2

                                ระดับที่ 3                

                                                                                                โรงพยาบาล  

                            

                                                                                    ................................................................ตัวกรอง 3

                                ระดับที่ 4                

                                                                                          คลินิกจิตเวชทั่วไป

                            

                                                                                ................................................................ตัวกรอง 4

                               

                                ระดับที่ 5                                                ผู้ป่วยจิตเวชในโรงพยาบาลจิตเวช

                                

 

แผนภูมิที่ 1

                              

 

 

 

                เมื่อผู้ป่วยเข้ามาสู่บริการทางการแพทย์แผนปัจจุบันแต่ละระดับมีขอบเขตความสามารถในการดูแลรักษาได้แตกต่างกัน ตัวกรองระดับ2,3,4จึงเป็นบุคคลในวงการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งสามารถให้บริการได้ระดับหนึ่ง และจะส่งต่อผู้ป่วยไปยังบริการระดับ3,4,5ได้อย่างถูกต้องให้ผู้ป่วยได้รับบริการได้โดยรวดเร็วและประหยัด                 การนำแนวทางป้องกัน3ระดับมาใช้ในเส้นทางผู้ป่วยจิตเวชนี้เป็นเรื่องสำคัญและต้องทำให้สอดคล้องกับหลักการของจิตเวชศาสตร์ชุมชนในทางปฏิบัติพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการโรคจิตรุนแรงมักถูกญาติพาไปรักษายังโรงพยาบาลจิตเวชโดยไม่ผ่านโรงพยาบาลทั่วๆไป ทั้งนี้เป็นเพราะคนทั่วๆไปมักรู้จักโรงพยาบาลจิตเวชซึ่งอยู่ในระดับที่5เป็นอย่างดี ในระดับที่1,2,3ยังมีผู้ป่วยจิตเวชมาใช้บริการอยู่มากแพทย์ทั่วไปจึงต้องดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ด้วยและรู้จักวิธีส่งต่อมายังระดับที่ 4 และ 5 อย่างเหมาะสม

 

หลักการของจิตเวชศาสตร์ชุมชน 5

                หลักการให้บริการโดยใช้แนวทางจิตเวชศาสตร์ชุมชน  มี 10  ประการ ดังนี้

                1. บริการที่ชุมชนเป็นพื้นฐาน   (Community base)

          การบริการเน้นชุมชนเป็นหลัก มากกว่าการใช้โรงพยาบาล หรือศูนย์บริการเป็นฐาน ซึ่งจะสามารถแบ่งได้เป็นลักษณะต่าง ๆ คือ

                1.1 บริการที่ชุมชน การจัดบริการจะทำใกล้ผู้ป่วยมากที่สุด เช่น การเยี่ยมบ้าน, เยี่ยมโรงเรียน,ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือ หน่วยบริการในโรงเรียน

                1.2 บริการโดยชุมชน มีการกระตุ้นให้ประชาชนและองค์กรภายในชุมชนเห็นปัญหา และมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมและบริการต่าง ๆ (consumer participation)

                1.3 บริการเพื่อชุมชน มีการเน้นเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหา หรือป้องกันปัญหาในชุมชนเป็นหลัก ดังนั้น การศึกษาปัญหาสุขภาพจิตในชุมชนจึงเป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อให้สามารถวางแผนได้สอดคล้องกับความเป็นจริง

                การปฏิบัติงานควรกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบของพื้นที่และประชากรสำรวจปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพจิตและด้านจิตเวชภายในชุมชนนั้น สำรวจแหล่งทรัพยากรที่มีศักยภาพที่จะให้บริการ  และวางแผนจัดระบบการให้บริการ โดยคำนึงถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจ,สังคมและวัฒนธรรม

                2. บริการที่เข้าหาผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยง   (Active process)

          ลักษณะของงานเป็นแบบเชิงรุกเข้าหาปัญหาในชุมชน เริ่มจากการศึกษาสภาพปัญหา วิเคราะห์ และออกแบบวิธีการป้องกันแก้ไขโดยไม่รอให้ผู้ป่วยมาหาบริการผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงบริการเชิงรุกจะ สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้ก่อนที่ผู้นั้นจะป่วยเป็นโรคทางจิตเวช

                3. เน้นการป้องกันมากกว่าแก้ไข   (Prevention)

          บริการทางจิตเวชมักจะทำได้ผลน้อย เมื่อผู้ป่วยมีอาการมาก หรือเรื้อรัง การบริการชุมชนที่ดีจึงเน้นการป้องกันปัญหาในระดับปฐมภูมิ เพราะเมื่อใช้ชุมชนเป็นฐาน ผู้ให้บริการสามารถติดต่อ สื่อสารได้ถึงประชาชนโดยตรง สามารถทำให้ชุมชนเข้าใจถึงปัญหา มีวิธีการป้องกันตนเองและครอบครัวได้ดีขึ้น           อย่างไรก็ตามบริการจิตเวชชุมชนสามารถจัดครอบคลุมได้ถึงการป้องกันระดับทุติยภูมิและระดับตติยภูมิ

4. ลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการโดยรวม   (Low cost)           ปัญหาทางจิตเวชมักต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากในการรักษาและฟื้นฟู  การให้บริการจิตเวชที่ชุมชนทำให้มีการ ป้องกันในระดับปฐมภูมิมากขึ้น  จะลดอุบัติการณ์ของปัญหาทางจิตเวช  ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา ฟื้นฟู ได้มาก                     บริการที่มีชุมชนเป็นหลักยังเปิดโอกาสให้ใช้แหล่งทรัพยากรบุคคลในชุมชน ทำให้ต้นทุนของการรักษาต่ำลง และประชาชนไม่ต้องเสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมารับบริการอีกด้วย

                5. บริการครบรูปแบบ (Comprehensive service) คือ มีบริการที่จำเป็นอยู่ครบ เช่น  บริการฉุกเฉิน ผู้ป่วยนอกผู้ป่วยในบริการให้คำปรึกษาทั้งเด็กวัยรุ่นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ  มีบริการครอบคลุมถึงสภาพปัญหาในชุมชน เช่น การให้บริการผู้ติดสุราและยาเสพติด เป็นต้น

                6. ให้บริการสหวิชาชีพ (Multidisciplinary team approach)

          ทีมงานจิตเวชชุมชนประกอบด้วยบุคคลผู้มีความรู้ความชำนาญในสาขาวิชาที่แตกต่างกัน ได้แก่ จิตแพทย์ จิตแพทย์เด็กนักจิตวิทยาคลินิกนักสังคมสงเคราะห์จิตเวชพยาบาลและนักการศึกษาพิเศษเพื่อให้มีขอบเขตความสามารถในการแก้ไขปัญหากว้างขึ้น

                7. การให้บริการอย่างต่อเนื่อง (Continuity of care)                        ผู้ป่วยจิตเวชส่วนมากต้องการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องการจัดระบบบริการให้ต่อเนื่องช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น การฟื้นฟูสภาพจิตใจเป็นไปได้อย่างดี

                8. ผสมผสานกับบริการสาธารณสุขอื่น   (Integrated program)

          การให้บริการทางจิตเวชควรใช้วิทยาการง่าย ๆไม่เกินกำลังของชุมชนและบุคลากรในชุมชน ควรจัดให้ผสมผสานไปกับงานบริการสาธารณสุขอื่นๆเช่นคลินิกเด็กดีก็ควรสอดแทรกเรื่องพัฒนาการของเด็กและการเลี้ยงเด็กลงไปด้วย เป็นต้น

                ในปัจจุบันการให้บริการสาธารณสุขมูลฐานสามารถจัดงานจิตเวชชุมชนลงไปผสมผสานด้วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                9. มีการประเมินผลการบริการและการวิจัย    (Evaluation and research)

                การวิจัยเพื่อวางแผนการให้บริการ  และมีการประเมินผล  โครงการอย่างต่อเนื่อง  เพื่อพัฒนาการให้บริการให้ได้ผล

                10. มีการส่งตัวผู้ป่วยอย่างมีระบบ   (Referral system)

          การบริการในระดับชุมชน สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ในระดับต้น ปัญหาของผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับการบริการโดยทีมจิตเวชที่มีความพร้อมมากกว่า จึงจำเป็นต้องมีการส่งต่อให้ครบวงจร และผู้ที่ได้รับการรักษาจากทีมจิตเวชแล้วอาจมารับการรักษา หรือฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องในชุมชนโดยการส่งต่อกลับเช่นเดียวกัน

 

บทบาทของแพทย์

1.        ศึกษาสภาพปัญหาทางจิตเวช หรือปัญหาทางสุขภาพจิตในชุมชน

2.        วางแผนการป้องกันระดับต่าง ๆ

3.        การให้ความรู้แก่ประชาชน

4.        การให้ความรู้และทักษะแก่บุคลากรอื่น ซึ่งจะนำไปให้แก่ประชาชน

5.        ประสานงานกับทีมจิตเวชเพื่อความช่วยเหลือทางวิชาการหรือบริการ

6.        ให้บริการทางจิตเวชในการป้องกันทุกระดับในชุมชน

·        ระดับปฐมภูมิ  ส่งเสริม ป้องกันปัญหา ด้วยการสร้างปัจจัยป้องกัน  และลดปัจจัยเสี่ยงในชุมชน

·        ระดับทุติยภูมิ  การคัดกรองและค้นหากลุ่มเสี่ยง  หรือกลุ่มที่เริ่มมีปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวช  แล้วดำเนินการช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างรวดเร็ว

·        ระดับตติยภูมิ  ติดตามผู้ป่วยที่รักษา  ให้การฟื้นฟูและแก้ไขปัญหา  เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตในครอบครัวและชุมชนโดยเร็ว

7.        มีการส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชไปยังทีมจิตเวชใกล้เคียง

8.        ฟื้นฟูสภาพจิตใจสังคม แก่ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง โดยใช้ชุมชนเป็นหลัก

9.        สร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็ง  พึ่งพาตัวเองได้  ป้องกันปัญหาได้ด้วยตนเอง

 

วิธีการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน

1.        ให้ความรู้แก่ชุมชน  เรื่อง การป้องกันปัญหาพฤติกรรมเด็กและวัยรุ่น  การเลี้ยงเด็ก  การดูแลนักเรียน การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเด็ก

2.        การค้นกลุ่มเสี่ยงหรือโรคทางจิตเวชจากชุมชน  โดยการคัดกรองปัญหาพฤติกรรม  ใช้แบบคัดกรองต่างๆ  เช่น   SDQ ConnersThai Youth CHecklist    ในโรงเรียน สถานดูแลเด็กและศูนย์เยาวชนต่างๆ  ที่ดูแลเด็ก

3.        ดำเนินการวิเคราะห์สาเหตุ  แก้ไขที่สาเหตุ

4.        บริการใช้ทีมสหวิชาชีพ  และการทำงานร่วมกัน  ในกรณีที่ปัญหามีความซับซ้อน

5.        สร้างระบบส่งต่อและการประสานงานช่วยเหลือกันในชุมชน  เช่น  อาสาสมัครสาธารณสุข  พนักงานอนามัย  พยาบาลที่เยี่ยมบ้านของกรุงเทพมหานครหรือสาธารณสุขอำเภอ  

 

ตัวอย่างการจัดกิจกรรมในชุมชน

1.        การเยี่ยมบ้าน มีการผสมผสานระหว่างการเฝ้าระวัง ส่งเสริม  ช่วยเหลือโรคทางกายและจิตใจ 

2.        งานสุขภาพจิตโรงเรียน  ระบบบริหารและการจัดการศึกษาปัญจปฏิรูปการศึกษาระบบการศึกษาการเรียนรู้ระบบทรัพยากร  และการลงทุนเพื่อการศึกษาครู คณาจารย์  และบุคลากรทางการศึกษามูลนิธิ  องค์กรเอกชนสถาบันเกี่ยวข้องกับเด็กและครอบครัว

3.        การให้ความรู้กลุ่มต่างๆ พ่อแม่ครูบุคลากรสาธารณสุข ตำรวจ ผู้พิพากษา การส่งเสริมกลุ่มกิจกรรมต่างๆ  ศูนย์เยาวชน  กลุ่มกีฬา  ค่ายพัฒนาเยาวชน  กรมคุมประพฤติ  สถานพินิจ  ในเรื่องความรู้และทักษะพัฒนาการเด็ก และครอบครัว  การส่งเสริมการพัฒนาเด็ก  ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาพฤติกรรม  การเผชิญความเครียด  การคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น  การช่วยเหลือเบื้องต้น  การให้คำปรึกษา และการส่งต่อปรึกษาเมื่อมีปัญหาโดยใช้ชุมชนเป็นหลัก 

  

    เอกสารอ้างอิง

1. กวี สุวรรณกิจ จิตเวชชุมชน. ใน: เกษม ตันติผลาชีวะ : ตำราจิตเวชศาสตร์ สมาคมจิตแพทย์

    แห่งประเทศไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,

    พ.ศ.2536;1048-1054.

 2. ธนู ชาติธนานนท์ งานจิตเวชชุมชนในประเทศไทย ใน : เกษม ตันติผลาชีวะ. ตำราจิตเวชศาสตร์

   สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ มหาวิทยาลัย

    ธรรมศาสตร์,พ.ศ.2536; 1055-1066.

 3. สมชาย จักรพันธุ์ การป้องกันทางจิตเวช. ใน : เกษม ตันติผลาชีวะ. ตำราจิตเวชศาสตร์ สมาคม

   จิตแพทย์แห่งประเทศไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,

   พ.ศ.2536;1134-1141.

4. Langsley DG,Berlin IN,Yarvis RM. Handbook of Community Mental Health.

    New York : Medical Examination Publishing, 1981. 

5. Shors MF, Mannino FV. Mental Health and the Community : Problems, 

   Programs, and Strategies. New York : Behavioral  Publications, 1969.

.                                                              

<ห้องรับแขก

  คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล  เขตดุสิต  กทม 10300  โทร. 0-2243-2142  0-2668-9435

   ส่งเมล์ถึง panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
   ปรับปรุงแก้ไขครั้งล่าสุด:21/05/50