บริษัทคลินิคจิต-ประสาท

 ห้องรับแขก

กลับไป ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม      

 

 

 

การให้คำปรึกษาเด็กที่ประสบภัยพิบัติ

Counseling For Children and Adsolescents After Disaster

 ผศ.นพ.พนม   เกตุมาน

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์   คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

          การช่วยเหลือเด็กและวัยรุ่นด้วยการให้คำปรึกษา เป็นวิธีที่ง่าย  ใช้ได้รวดเร็ว  สามารถใช้ได้โดยครูอาจารย์ หรือบุคลากรสาธารณสุขเบื้องต้น  ให้กับเด็กและวัยรุ่นที่ประสบภัยตั้งแต่วันแรกๆ จนถึงระยะยาว   การให้คำปรึกษาสำหรับเด็กที่ประสบภัยพิบัตินี้ ประยุกต์จากการให้คำปรึกษาทั่วไป รวมกับการรักษาแบบ cognitive-behavior therapy  

 ปัญหาทางจิตใจของผู้ประสบภัยพิบัติ

          เด็กและวัยรุ่นที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยทุกคน ควรได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้น  การประเมินทางจิตใจ  และติดตามอย่างต่อเนื่อง  เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น  ในระยะแรกหลังเหตุภัยพิบัติ  เด็กอาจเกิดปัญหาหลายประการ ได้แก่

bullet ความเครียดวิตกกังวล  แสดงออกเป็นอาการทางร่างกาย ความรู้สึก และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หลีกเลี่ยงสถานที่หรือสถานการณ์ที่ทำให้เกิดอาการ
bullet ความรู้สึกต่อตนเอง  อาการทางจิตใจทำให้ขาดความเชื่อมั่นตนเอง  ควบคุมตนเองไม่ได้  รู้สึกตัวเองไม่ดี ผิด ไร้ค่า
bullet อาการซึมเศร้า  เบื่อ ขาดความสนใจ  ขาดสมาธิ 

          ผลที่ตามมา ทำให้เด็กเรียนหนังสือได้ไม่เต็มที่  ถดถอย  ขาดความสนใจการเรียน  มีปัญหาพฤติกรรมต่างๆตามมา  เช่น การใช้เหล้าหรือยาเสพติดต่างๆ 

เป้าหมายของการรักษาด้วยการให้คำปรึกษา

1.     อารมณ์สงบลง  เข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

2.     เข้าใจอาการต่างๆทางจิตใจและร่างกาย ที่พบร่วมกัน

3.     เข้าใจอาการต่างๆที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ยอมรับ และร่วมมือในการรักษา ฟื้นฟูระยะยาว

4.     มีกำลังใจรักษาอย่างต่อเนื่อง

5.     อาการทางกายต่างๆลดลง

6.     ไม่กลับมาเป็นอีก

7.     ป้องกันปัญหาทางจิตใจอารมณ์ และพฤติกรรมระยะยาว เช่น  การใช้เหล้าหรือยาเสพติด

ความหมายของการให้คำปรึกษา

          การให้คำปรึกษา คือกระบวนการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบปัญหา โดยอาศัยปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับการปรึกษา  ใช้เทคนิคการสื่อสาร  ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ถึงสาเหตุของปัญหา ใช้ศักยภาพของ ตนเองในการคิด ตัดสินใจ แก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง

ประเภทของการให้คำปรึกษา

  1. Informative counseling  การให้ความรู้  วิธีปฏิบัติ
  2. Directive counseling  การชี้แนะแนวทาง
  3. Advocacy counseling  การให้ข้อมูลเพียงพอที่จะเลือกทางแก้ปัญหาที่มีหลายแบบ
  4. Supportive counseling  การประคับประคองทางจิตใจ จนสงบเพียงพอจะแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง

การเลือกรูปแบบการให้คำปรึกษา ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เหตุการณ์ 

หลักการให้คำปรึกษา

การให้คำปรึกษา เป็นการช่วยเหลือรูปแบบหนึ่ง  ที่อาศัยความสัมพันธ์และการสื่อสารระหว่างผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับการปรึกษา  เพื่อให้ผู้รับการปรึกษาเกิดความเข้าใจตนเอง เข้าใจปัญหา ได้ความรู้และทางเลือกในการแก้ปัญหานั้นอย่างเพียงพอมีสภาพอารมณ์และจิตใจที่พร้อมจะคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง

วัตถุประสงค์ของการให้คำปรึกษา จึงประกอบด้วยการช่วยให้วัยรุ่น

  1. เกิดแรงจูงใจที่จะให้ข้อมูล
  2. เข้าใจและเห็นปัญหาของตนเอง
  3. อยากแก้ไขปัญหา  หรือพัฒนาตนเอง
  4. ดำเนินการแก้ไขปัญหา  หรือพัฒนาตนเอง

ขั้นตอนการให้คำปรึกษา

          เทคนิคการให้คำปรึกษา  มีขั้นตอน ดังนี้

  1. การเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
  2. การสำรวจลงไปในปัญหา หรือสาเหตุที่ทำให้ต้องมาพบกัน
  3. สรุปและเลือกประเด็นที่สำคัญร่วมกัน  ที่จะทำงานร่วมกัน
  4. ตั้งเป้าหมายในการทำงานต่อไปด้วยกัน  คือการแก้ไขปัญหา
  5. การดำเนินการช่วยเหลือ การฝึกฝนทักษะต่างๆ
  6. การสรุปและยุติการให้คำปรึกษา

เทคนิคที่ใช้ในขั้นตอนทั้ง 6

เทคนิคการให้คำปรึกษา ตามลำดับขั้นมีดังนี้  (ตัวอย่างคำพูด ปรับใช้ตามสถานการณ์)

  1. การเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
bullet การจัดสิ่งแวดล้อม  ห้องตรวจควรความมิดชิด เป็นสัดส่วน ไม่มีเสียงรบกวน ไม่มีคนเดินผ่านไปมา บรรยากาศมีความสงบและเป็นกันเอง
bulletท่านั่ง  ควรเป็นลักษณะตั้งฉากกัน ไม่ควรเผชิญหน้ากันตรงๆ  เยื้องกันเล็กน้อย ใกล้กันพอที่จะแตะไหล่ได้
bullet ก่อนการเริ่มต้นสัมภาษณ์  ควรจัดลำดับการสัมภาษณ์ให้ดี 
bullet เปิดการสนทนานำให้เกิดความผ่อนคลาย เป็นกันเอง(small talks)

           “ก่อนพบหมอ กำลังทำอะไรอยู่”  (เปลี่ยนคำว่าหมอ เป็น พี่ )

          “หนูอยู่ห้องไหน  ครูชื่ออะไร”  (หนู  อาจเปลี่ยนเป็นชื่อเด็ก)

“เรียนสนุกมั๊ย”

“หนูมีเพื่อนสนิทชื่อะไร”

“ชอบเรียนอะไร  ไม่ชอบวิชาอะไร”

“รู้มั๊ยว่ามาคุยหมอเรื่องอะไร”

“ครูบอกหนูว่าอย่างไร  ถึงการมาพบหมอครั้งนี้”

·        แนะนำตัวเอง  สถานที่ วัตถุประสงค์ของการคุยกัน  เวลาที่จะคุยกัน

“หมอชื่อ........ เป็นแพทย์ทำงานที่................”

“หมอขอคุยกับหนู   ตามลำพังสักครู่   หลังจากนั้นจะ...........”

          “หมอขอคุยเรื่องเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมา   หนูพอจำได้มั้ย”

          “พอจะเล่าให้ฟังได้มั้ย”

·        อธิบายวัตถุประสงค์ของการพูดคุยกัน

“หนูทราบไหมว่าครู(ผม..พี่.....)จะคุยด้วยเรื่องอะไร  แปลกใจไหม”

“ครูรู้สึกเป็นห่วง  นักเรียนทุกคนที่อาจได้รับผลกระทบจากอุบัติภัยครั้งนั้น” 

“หนูคิดว่าตัวเอง  ได้รับผลอย่างไรบ้าง  มีอะไรเปลี่ยนไป”

“ครูอยากคุยเรื่อง สิ่งที่เปลี่ยนไป  ในจิตใจหนู  หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น  และผลกระทบต่อตัวหนูมีอะไรบ้าง”

“ครูอยากคุยด้วย เรื่องอาการต่างๆที่อาจเกิดกับนักเรียนที่เผชิญเหตุการณ์”  

·        การใช้ภาษาพูด  น้ำเสียง  การเน้นคำ  การใช้ สรรพนาม  การทำความเข้าใจภาษาของเด็กหรือวัยรุ่น  ควรใช้ภาษาที่เข้าใจกันง่าย เป็นกันเอง พยายามเข้าใจและยอมรับภาษาของเขา แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาของเขา

·        ใส่ใจอารมณ์ความคิดความรู้สึกของเด็กตลอดเวลา

“ถ้าหนูรู้สึกลำบากใจ  ยังไม่ต้องเล่า หรือตอบตอนนี้ก็ได้  เอาไว้ให้หนูสบายใจก่อนค่อยเล่าก็ได้”

“หนูรู้สึกอย่างไร  ที่หมอถามถึงเรื่องนี้อีก”

“ถ้าหมอถามตรงไหนที่เครียดหรือลำบากใจ ช่วยบอกหมอด้วย”

“ใครที่เจอเหตุการณ์แบบหนู  คงจะปรับใจได้ลำบาก ในระยะแรกเหมือนกัน”

·        เรื่องที่เด็กไม่อยากเล่าในช่วงแรก แพทย์ควรข้ามไปก่อน แต่ทิ้งท้ายไว้ว่ามีความสำคัญที่น่าจะกลับมาคุยกันอีกในโอกาสต่อไป

     “เรื่องนี้น่าสนใจมาก อาจมีส่วนสำคัญทีเดียว   หนูยังไม่อยากเล่าในตอนนี้ ไม่เป็นไร ไว้เมื่อพร้อมค่อยเล่าก็ได้ หมอขอคุยเรื่องอื่นก่อน แล้วขอย้อนกลับมาคุยเรื่องนี้ตอนหลัง ดีไหม”

·        การใช้ภาษากาย การสัมผัส สีหน้า แววตา  ท่าทาง ให้เกิดความเป็นกันเอง อยากเข้าใจ อยากช่วยเหลือ ไม่ตัดสินความผิด หรือแสดงการไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมหรือสิ่งที่เด็กเปิดเผย

·        อธิบายสาเหตุที่ทำให้เราต้องคุยกัน  สร้างแรงจูงใจ

 “เด็กที่เผชิญเหตุภัยพิบัติ บางคนอาจมีอาการหลายอย่างตามมา  ทำให้รบกวนใจมาก  หมอจึงขอพบคุยด้วย  ถ้ามีปัญหา  เราจะได้ช่วยกันอย่างรวดเร็ว”

·        อธิบายสั้นๆถึงอาการที่เกิดขึ้นกับเด็ก  ให้ความมั่นใจว่าอาการต่างๆเหล่านั้นจะหายไปเอง  ถ้าตั้งใจแก้ไข  และปฏิบัติตามคำแนะนำ

“อาการทางจิตใจที่เกิดขึ้นหลังภัยพิบัติ  ไม่ใช่โรคจิตโรคประสาท  ดีขึ้นได้ด้วยตัวเอง  หมอจะช่วยให้ดีขึ้นได้เร็ว  และคนใกล้ชิดเข้าใจ”

 

  1. การสำรวจลงไปในปัญหา หรือสาเหตุที่ทำให้ต้องมาพบ  ใช้เทคนิคการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยพิบัติ (ภาคผนวก) โดยให้ความสำคัญต่อเรื่องต่อไปนี้

·        ให้ความมั่นใจในการเก็บรักษาข้อมูล ความลับ  ไม่มีการเปิดเผยที่อื่นใด  ยกเว้นนักเรียนจะอนุญาตก่อน

“เรื่องที่เราคุยกันนี้  ครูจะบันทึกไว้เป็นส่วนตัว  ไม่มีการเปิดเผยกับผู้อื่น เว้นแต่หนูจะยินยอม”

“ถ้าครูเห็นว่ามีใครที่อาจช่วยหนูเพิ่มเติม เช่นแพทย์  ครูจะบอกหนูก่อนเพื่อให้ข้อมูลเท่าที่จำเป็น”

·        สอบถามข้อมูลพื้นฐานสั้นๆ เกี่ยวกับตัวเด็ก  ครอบครัว  การเรียน  ความสัมพันธ์กับเพื่อน ก่อนเกิดเหตุการณ์

·        การเริ่มต้น  ไม่ควรถามถึงเหตุการณ์ตรงๆทันที  เด็กบางคนเกิดอาการมากขึ้น  ควรเริ่มต้นเป็นลำดับ

·        ถามถึงอาการต่างๆทางร่างกายและจิตใจที่เกิดขึ้นในขณะนี้  และที่ผ่านมาตั้งแต่ต้น สอบถามความคิด ความรู้สึกของนักเรียนเสมอ

“ตอนนี้หนูมีอาการอะไรบ้าง  ที่ยังรบกวนจิตใจอยู่”

 “หนูคิดอย่างไรบ้าง  กับอาการเหล่านั้น”

“หนูกังวลใจอะไรอยู่หรือเปล่า  เล่าได้ไหมจ้ะ”

“หนูแก้ไขปัญหาอย่างไร  ทำใจอย่างไร  มีใครช่วย....”

 “คิดว่า(ครูพ่อแม่)เป็นห่วงเรื่องอะไร”

          “หมอทราบจาก(ครูพ่อแม่)ว่า.....................  ..........คิดอย่างไรบ้าง”

“แล้วปัญหาในความคิดของ........... คืออะไร”

·        ถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 “ช่วยเล่าให้หมอฟังว่าเกิดอะไรขึ้น”

“รู้สึกลำบากใจที่จะเล่าให้ฟังหรือเปล่า”

          “ตอนเกิดเหตุนั้น  หนูกำลังทำอะไรอยู่”

          “มีใครอยู่ในเหตุการณ์ด้วยบ้าง”

          “หลังจากนั้น เหตุการณ์เป็นอย่างไร”

          “หนูทำอย่างไรต่อไป”

          “คนอื่นๆ  ทำอย่างไรกัน”

ประเภทของคำถาม

คำถามปลายเปิด (open-ended question) เป็นคำถามที่มีคำตอบได้หลากหลาย มักใช้ในการสอบถามเบื้องต้น ในระยะแรกๆของการสัมภาษณ์ ที่ยังไม่แน่ใจว่าเด็กจะตอบอย่างไร ดังตัวอย่างต่อไปนี้

          “หลังจากเหตุการณ์นี้  หนูเห็นตัวเองเปลี่ยนไปอย่างไร”

          “อยากให้หมอช่วยเรื่องอะไร”

          “เรื่องอะไรที่ทำให้ไม่สบายใจ”

          คำถามปลายเปิด มักจะได้คำตอบที่ตรงกับสิ่งที่เด็กคิด กังวล เป็นห่วง หรือรู้สึกว่าเป็นปัญหาอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากปัญหาที่คิด อาจไม่ตรงกับปัญหาที่พ่อแม่เป็นห่วงอยู่

คำถามปลายปิด (close-ended question)  เป็นคำถามที่คาดหวังคำตอบว่า ใช่ หรือไม่ใช่ เท่านั้น ใช้ในกรณีที่ต้องการตรวจสอบว่า มีหรือไม่มีสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์สงสัยอยู่ ไม่ควรใช้ในช่วงแรกๆของการสัมภาษณ์ เพราะอาจปิดกั้นการระบายปัญหาที่แท้จริงของเด็ก ตัวอย่างคำถามปลายปิด

          “นอนหลับดีไหม”

          “เบื่ออาหารหรือไม่”

          “ท้อแท้ไหม”

          คำถามปลายปิดมักใช้ในการสำรวจปัญหาอย่างเป็นระบบ เพื่อตรวจสอบว่าเด็กมีหรือไม่มีอาการหรือปัญหาที่สงสัย มักใช้ในตอนท้ายของการสัมภาษณ์

คำถามนำ (leading question) เป็นคำถามที่ส่งเสริมให้ตอบไปในทิศทางนั้น มักใช้ในกรณีที่เด็กลังเลที่จะตอบ เช่น

          “เพื่อนเคยชวนให้ลองใช้ยานอนหลับเหมือนกัน  ใช่ไหม”

          “บางคนท้อแท้มากจนคิดอยากตาย  หนูเคยคิดบ้างไหม”

          “คิดอยากตายมาก จนวางแผนจะทำมั้ย”

          “มีอะไรยับยั้งใจจนไม่ได้ทำจริง”

          “บางคนรู้สึกผิด  ที่ตนเองรอดมาได้  แต่เพื่อน(ญาติพี่น้อง)เสียชีวิต  หนูคิดอย่างนั้นบ้างไหม”

การกระตุ้นให้เล่าเรื่อง(facilitation)

          “หมอทราบเบื้องต้นมาว่า..................  คุณพ่อคุณแม่รู้สึกเป็นห่วงที่..................”

          “ที่จริงคุณพ่อคุณแม่(ครู)เล่าให้หมอฟังบ้างแล้ว แต่หมออยากฟังจาก.........(ชื่อ)เอง  ลองเล่าให้หมอฟังว่าเกิดอะไรขึ้น”

          “พ่อแม่กังวลว่า................................”

          “พ่อแม่(ครู)อยากทำความเข้าใจปัญหามากขึ้น จึงชวน......มาคุยกับหมอ”

          “คิดอย่างไรบ้าง    รู้สึกอย่างไร     โกรธพ่อแม่(ครู)หรือไม่  เมื่อรู้เหตุผลอย่างนี้” 

การยอมรับ (unconditioned positive regard)

          “เรื่องใดที่พูดลำบาก หรืออธิบายไม่ได้ ขอให้บอกหมอด้วย”

          “ใครๆที่อยู่ในสภาพเดียวกับ......   คงจะทำใจยอมรับได้ลำบากเหมือนกัน”

          “บางทีมันก็ยากที่จะเล่า เรื่องที่ค่อนข้างส่วนตัวอย่างนี้  เอาไว้พร้อมแล้วค่อยเล่าก็ได้”

          “เรื่องไหนที่ยังไม่พร้อมจะคุย ขอให้บอกหมอ”

การสำรวจลงลึก (exploration)

           “มีอะไรที่ทำให้รู้สึกหนักใจ กังวลใจ หงุดหงิดใจ”

          “ถ้าเป็นไปได้ อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในบ้าน”

          “อยากให้พ่อแม่(หรือครู)เป็นอย่างไร”

          “ปัญหาอื่นๆในบ้าน(โรงเรียน)ละ  มีอะไรหนักใจหรือไม่”(ลองสำรวจในเรื่องอื่นๆ ในตอนท้าย เช่นเรื่องความสัมพันธ์ของพ่อแม่  ความสัมพันธ์กับน้อง หรือญาติคนอื่นๆ)

          “วางแผนไว้อย่างไรบ้าง ระยะสั้น  ระยะยาว”

การสะท้อนความรู้สึก  (reflection of  feeling)

          “......รู้สึกไม่พอใจที่มีคนถามถึงเรื่องนี้บ่อยๆ”

          “......โกรธที่ไม่สามารถทำอะไรได้เหมือนเดิม”

          “........อึดอัดใจที่หมอถามถึงเรื่องนี้”

          “............กังวลใจจนนอนไม่หลับ”

          การสะท้อนความรู้สึกจะช่วยให้วัยรุ่นเกิดความรู้สึกว่าแพทย์เข้าใจความรู้สึก เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การสะท้อนความรู้สึกช่วยในการตอบคำถาม หรือตอบสนองบางสถานการณ์ได้ เช่น

          วัยรุ่น(พูดอย่างโกรธๆว่า)    “หมอไม่เข้าใจผมหรอก”

          แพทย์(ใช้เทคนิคการสะท้อนความรู้สึก )     “.......คงรู้สึกยากที่จะมีใครเข้าใจปัญหานี้”

การสะท้อนความคิด  ความเห็น  ความเชื่อ (reflection of  thinking, attitudes, believes)

          บางครั้งการสะท้อนความคิดเด็ก  จะช่วยให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันกับแพทย์ และช่วยให้วเด็กหยุดคิดถึงสิ่งที่ตนเองคิด และในหลายโอกาสช่วยให้เขาเห็นความสัมพันธ์ของความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของตนเองได้  ตัวอย่างเช่น

          “...........หนูคิดว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจ”

          “...........หนูคิดว่าถ้าขออนุญาตก่อน พ่อคงปฏิเสธ”

          บางจังหวะ  การสะท้อนความคิดก็ช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้ เช่น

          เด็ก(พูดอย่างโกรธๆว่า)    “หมอไม่เข้าใจผมหรอก”

          แพทย์(ใช้เทคนิคการสะท้อนความคิด ) “..........คิดว่าปัญหานี้ยาก  จนคนอื่นคงไม่เข้าใจ

          เด็ก(พูดอย่างโกรธๆว่า)    “ลองหมอมาเป็นผมบ้างสิ หมอจะทำอย่างไร”

          แพทย์(ใช้เทคนิคการสะท้อนความคิด)  “..........คงคิดว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับใคร ก็คงยากที่จะตัดสินใจ” 

การถามความคิดและความรู้สึก (exploring the feeling and thinking) นอกจากเทคนิคการสะท้อนความคิดความรู้สึกข้างต้นแล้ว บางครั้งการสอบถามความคิด ความรู้สึก จะช่วยให้แพทย์เข้าใจเด็กมากขึ้น และสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกันได้มาก เช่น

          “เหตุการณ์นั้น  ทำให้หนูคิดอย่างไรบ้าง”

          “โดนเหตุการณ์แบบนั้น  หนูรู้สึกอย่างไร”

แสดงทัศนคติที่ดีต่อวัยรุ่น (rapport, nonjudgmental attitude) แพทย์ควรมีความเข้าใจ(understanding)  ยอมรับ, (unconditional positive regard)  มองในแง่ดีเป็นกลาง (neutral)  อยากช่วยเหลือ (empathy)  เห็นใจ (sympathy)

          “ความกลัว ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ  ......มีความกลัวเรื่องอะไรบ้างไหม”

          “เพื่อนบางคนไม่กล้าไปทะเลอีกเลย   ในระยะแรกๆ  ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ”

          “ความรู้สึกไม่ดีต่อตนเอง พบได้ตอนแรกๆ”

          “เพื่อนหนูบางคนอาจมีอาการเปลี่ยนไปจากเดิม  เราสามารถช่วยเขาให้กลับดีเหมือนเมื่อก่อน”

แสดงสิ่งที่ทีมแพทย์จะช่วยเหลือได้ (hope)  เช่น สร้างความเข้าใจกัน  วิธีการบางอย่างพ่อแม่ก็ไม่เข้าใจ  ทำไม่ถูก  มีการจัดการไม่ดี  เรื่องบางอย่างที่หมอช่วยได้ทันที  เช่นการให้ความรู้พ่อแม่ การฝึกทักษะต่างๆ  เมื่อช่วยแล้วจะเกิดผลดีอย่างไร  ถ้าไม่ช่วยจะเกิดผล(เสีย)ตามมาอย่างไร

การให้เด็กได้ระบายความรู้สึก(ventilation)

          “บางทีการร้องไห้ หรือได้ระบายความทุกข์ใจไม่สบายใจก็ช่วยให้ใจสบายขึ้น”

          “หมออยากให้.....เล่าเรื่องที่อาจไม่สบายใจ  ทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ดีขึ้น”

สรุปความ(summarization)

          “ปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่ง คือหนูไม่เข้าใจอาการที่เกิดขึ้น.....”

          “หนูรู้สึกกังวลกับอาการที่เกิดขึ้น   .........................................”

          “หลายครั้งที่........เรียนไม่รู้เรื่องเพราะไม่มีสมาธิ”

          “ความรู้สึกผิดทำให้หนูคิดว่าตนเองไม่ดี  ไร้ค่า”

แปลความหมาย(interpretation)

          “เวลากลัว   หนูเลี่ยงเลี่ยงที่จะเผชิญกับมัน”

การชมเชย(positive reinforcing)

          “หมอคิดว่าเป็นการดีมาก   ที่...อยากเข้าใจตัวเอง   .......อยากแก้ไขเปลี่ยนแปลง”

          “ดีมากที่.....มีความสนใจในเรื่องการเรียน”

การสำรวจปัญหาอย่างเป็นระบบ(system review) 

          รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นจากอาการต่างๆ และปัญหาที่ได้จากเด็กและครอบครัว ข้อมูลของครอบครัว การเลี้ยงดูตั้งแต่เกิด พัฒนาการ การเรียน ความสัมพันธ์กับครอบครัวและกับโรงเรียน ปัจจัยสาเหตุ ปัจจัยกระตุ้นและส่งเสริมให้เป็นปัญหา หรือปัจจัยป้องกัน ข้อดีและจุดเด่นจุดแข็งของเด็ก   และเรื่องต่อไปนี้

1.     ถามอาการทางจิตเวช  ของโรคทางจิตเวชที่เฝ้าระวัง  “ในช่วง 2  สัปดาห์ที่ผ่านมานี้  หนูมีอาการต่อไปนี้หรือไม่”

อาการของโรค Posttraumatic stress disorder  (PTSD)   

bullet ยังรู้สึกหวาดกลัวมาก สยองขวัญจนกระสับกระส่าย สับสนง่าย
bullet รู้สึกว่าช่วยตัวเองไม่ได้และไม่มีใครช่วยได้
bullet กลับไปคิดถึงเหตุการณ์บ่อยๆ
bullet ฝันร้ายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนเกิดความกลัวหรือกังวล
bulletขณะที่ตื่น บางครั้งเสมือนว่าอยู่ในเหตุการณ์  จนทำให้ตกใจ กลัวหรือวิ่งหนี  ทั้งๆที่ไม่มีจริง
bulletรู้สึกอึดอัด หรือไม่สบายใจเมื่อไปใกล้ทะเล หรือพบสิ่งที่สะกิดใจ ทำให้ไปนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น