บริษัทคลินิคจิต-ประสาท

 ห้องรับแขก

กลับไป ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม      

 

 

 

การให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม

 (Group Counseling)

ผศ. นพ. พนม เกตุมาน  สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ 

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

หลักการ  ใช้หลักการของกลุ่มบำบัดขนาดเล็ก  ที่มีลักษณะกลุ่มช่วยเหลือกันเอง

กลุ่มเป้าหมาย  นักเรียนวัยเรียนหรือวันรุ่นที่ประสบภัยทุกคน  หรือกลุ่มเสี่ยงที่ได้จากการคัดกรอง

เทคนิคพิเศษที่ใช้ในกลุ่ม

  1. เทคนิค แบบ self-help group  กลุ่มช่วยเหลือกันเอง  แลกเปลี่ยนประสบการณ์  ให้คำแนะนำ  ชมเชย ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน บรรยากาศเป็นกันเอง  สร้างความรู้จักและอยากช่วยเหลือกัน
  2. เทคนิค การรักษาแบบ cognitive-behavior therapy  กลุ่มเกิดการเรียนรู้ใหม่ทางความคิด  วิธีคิด  การคิดดี  เรียนรู้วิธีคิดแบบใหม่  แก้ไขการเรียนรู้แบบเก่า  การเข้าใจความคิดความรู้สึกของตนเอง  แก้ไขอาการทางอารมณ์ได้ด้วยตัวเอง   คลายเครียดและความกังวลได้
  3. ใช้เทคนิคแบบการให้คำปรึกษา counseling  ให้การช่วยเหลือประคับประคองทางอารมณ์  จนจิตใจสงบ สามารถคิดแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง เลือกทางออกที่เหมาะสม  ปรับตัวและใจได้เต็มตามความสามารถที่แท้จริง  

ข้อดีของการให้คำปรึกษาแบบกลุ่ม

    bulletทำได้ง่าย  สามารถทำได้ในโรงเรียน  ครูสามารถทำได้  ประหยัดเวลา
    bullet เหมาะสมกับวัยรุ่น เกิดความเข้าใจเห็นใจอยากช่วยเหลือกัน
    bullet ฝึกทักษะสังคมได้ดี
    bullet การประคับประคองทางอารมณ์เกิดได้มาก

วิธีการ

  1. แนะนำตัว ผู้นำกลุ่มแนะนำตัวเอง  ให้ทุกคนแนะนำตัวเองสั้นๆ ว่าชื่ออะไร  ชั้น  ที่อยู่
  2. อธิบายวัตถุประสงค์ของการคุยกันเป็นกลุ่ม  เวลาที่จะใช้(30-45 นาที) เน้นกติกาของกลุ่ม  คือการเรียนรู้จากกันการเปิดเผยและช่วยเหลือกัน  ทุกคนจะมีโอกาสเล่าเรื่องของตนเอง และพร้อมที่จะฟัง  และช่วยเหลือผู้อื่น
  3. ผู้นำกลุ่มเน้นเรื่อง การเก็บรักษาความลับ  ไม่นำเรื่องที่คุยกันในกลุ่มไปเปิดเผยภายนอก
  4. สอบถามสมาชิกกลุ่มทุกคนว่า  ในขณะนี้มีใครมีอาการอย่างไรบ้าง  ที่รบกวนการดำเนินชีวิต
  5. ผู้นำกลุ่มตั้งคำถามนำ  หลังเหตุการณ์ใครมีอาการเหล่านี้ บ้าง   เช่น เครียด  เสียใจ คิดถึงผู้สูญเสีย  ฝันร้าย  นอนไม่หลับ  คิดวนเวียน  กลัว   ตกใจง่ายกับเสียงดังๆ  หงุดหงิดอารมณ์เสีย  เบื่อหน่าย  ท้อแท้  เบื่ออาหาร  เบื่อชีวิต
  6. ให้สมาชิกเล่าว่า  เมื่อเกิดอาการขึ้น  มีวิธีการแก้ไขอย่างไร  ที่ทำแล้วได้ผล
  7. ผู้นำกลุ่มถามสมาชิกคนอื่นๆ ว่า จะมีใครมีคำแนะนำเพื่อนบ้าง  เปิดโอกาสให้แสดงออกหลายๆวิธี
  8. ผู้นำกลุ่มยกวิธีการที่ดีของสมาชิกให้เป็นตัวอย่างแก่คนอื่น  แนะนำให้ลองฟังความคิดของกันและกัน ข้อดีของทางเลือกนั้น  ส่งเสริมให้หาวิธีดีๆ และนำไปปฏิบัติ  
  9. ตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ดี  ได้แก่  เวลามีเรื่องไม่สบายใจ  หาผู้รับฟังที่ดี  เช่น เพื่อน  ครู  พ่อแม่ ญาติพี่น้อง  เปิดเผย  การเล่าจะเป็นการระบายความรู้สึก  และอาจได้คำแนะนำดีๆ  ทางออกแก้ปัญหาที่ดีได้
  10. หากิจกรรมเบนความสนใจ  เช่น  เล่น  เกม  กีฬา  ศิลปะ  ดนตรี  กิจกรรมกลุ่ม  ทำความดี   ช่วยเหลือผู้อื่น  บำเพ็ญประโยชน์
  11. มองโลกในแง่ดี  คิดถึงคนที่แย่กว่าเรา  เรายังมีข้อดีบางอย่าง  หัดมองข้อดีตนเอง
  12. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  มีข้อดี หรือเห็นอะไรดีๆ ได้ข้อคิดอะไรดีๆบ้าง  เช่น เห็นความเห็นอกเห็นใจ  เห็นน้ำใจของคนอื่นๆ เชื่อว่าคนเราไม่ทิ้งกัน  มีเมตตากัน  มีคนดีๆเกิดขึ้น  แสดงว่าคนเราจำนวนมากอยากทำดีต่อผู้อื่น
  13. คิดถึงผู้ที่ตายจากไป  แนะนำให้สวดมนต์ ไหว้พระ ทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศล  ถ้ากลัวสิ่งใดให้เผชิญทีละน้อย
  14. สอบถามว่ามีใครคิดว่าเป็นความผิดของตนเอง  ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์  หรือทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต  หรือไม่ได้ช่วยผู้อื่น  หรือการเอาตัวรอดทำให้ผู้อื่น
  15. วิธีเอาชนะความคิดเช่นนี้  ทำอย่างไร  ช่วยกันแนะนำเพื่อน
  16. ผู้นำกลุ่มอธิบายให้ฟังว่า  อาการต่างๆเหล่านั้น  เกิดขึ้นได้ในเด็กที่เผชิญภัยเช่นนี้  จะหายได้  จะควบคุมตนเองได้  ความกลัวสถานที่ เช่น บ้าน  หรือ ชายหาด  สามารถรักษาได้ง่ายๆ  ด้วยการเผชิญสิ่งนั้นทีละน้อย  ไม่ใช่โรคจิต โรคประสาท  ถ้ายังมีอาการหลังจาก 1 เดือนแล้ว  ควรปรึกษาแพทย์ในทีมสุขภาพจิต
  17. เปิดเวทีให้สมาชิกกลุ่มเล่าประสบการณ์ตนเอง ใครทำอะไรอยู่ในตอนนั้น  แล้วให้ช่วยกันเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบ  หาสาเหตุ การแก้ไข และป้องกันตนเองและครอบครัว  ใครจะทำอะไรต่อไป
  18. ให้ทบทวนความคิดและความรู้สึกตนเองว่า  รู้สึกอย่างไร  กลัว เครียด  เศร้า 
  19. ให้ช่วยกันหาทางเปลี่ยนความรู้สึกที่ไม่ดีเหล่านั้น
  20. แนะนำเทคนิค  การควบคุมความคิด  โดยการกำหนดจิตใจให้อยู่กับปัจจุบันตลอดเวลา  โดยให้อยู่กับลมหายใจ เข้าและออก  เมื่อจิตใจไปคิดเรื่องอื่น ให้ดึงกลับมาสู่ลมหายใจอย่างเดิม อย่างต่อเนื่องนานๆ  ฝึกประมาณ 5 นาที
  21. เมื่อเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี  ให้รู้ตัวว่ากำลังคิดเรื่องใด  ดึงความคิดกลับมาสู่ลมหายใจเข้าออกดังเดิม
  22. แนะนำให้ฝึกเป็นประจำ  วันละ 10-20  นาที ก่อนนอน  และในเวลากลางวันที่ว่าง
  23. สรุปการเรียนรู้  อาจให้สมาชิกช่วยกันสรุปก็ได้  ใครมีคำถาม หรือข้อคิดเห็น
  24. นัดหมายครั้งต่อไป

คำแนะนำสำหรับผู้รักษาแบบกลุ่ม

bullet สำหรับกลุ่มนักเรียนทั้งหมดที่ประสบภัย ควรให้การช่วยเหลือแบบกลุ่ม อย่างน้อย 1-2 ครั้ง  จากการพูดคุยในกลุ่ม  ผู้นำกลุ่มสามารถเลือกเด็กกลุ่มเสี่ยง  ที่มีอาการมากกว่าคนอื่นๆ หรือมีปัญหาในการเรียน  การปรับตัว  มาจัดกลุ่มให้คำปรึกษาเพิ่มเติม 8-12 ครั้ง
bullet สำหรับเด็กกลุ่มเสี่ยง  ควรให้การช่วยเหลือแบบกลุ่ม ต่อเนื่อง 8-12 ครั้ง  หรือจนกว่าเด็กจะดีขึ้น(ไม่มีอาการ  ปรับตัวได้)

 

<ห้องรับแขก

  คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล  เขตดุสิต  กทม 10300  โทร. 0-2243-2142  0-2668-9435

   ส่งเมล์ถึง panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
   ปรับปรุงแก้ไขครั้งล่าสุด:21/05/50