บริษัทคลินิคจิต-ประสาท

 ห้องรับแขก

กลับไป ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม      

 

 

 

การช่วยกันป้องกันการฆ่าตัวตาย

ผศ  นพ  พนม  เกตุมาน

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

การฆ่าตัวตาย  เกิดจากหลายสาเหตุ  แต่สาเหตุใหญ่ที่ทำให้คนฆ่าตัวตาย  เกิดจากโรคซึมเศร้า  คนที่เป็นโรคซึมเศร้า  จะมีความรู้สึกเบื่อรุนแรงแทบทุกอย่างในชีวิต  เบื่อที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป  ความเศร้าที่รุนแรงมากๆอาจทำให้คิดว่าตนเองผิด  ไร้ค่า  และคิดอยากตาย

                การตายจึงเป็นเหมือนทางออกของปัญหาในระยะสั้น  ไม่ต้องเผชิญปัญหาต่อไป

                ความคิดของคนจะฆ่าตัวตาย  มักไม่เห็นหนทางแก้ไขปัญหา  ชีวิตมืดมน  และหมดหวัง  ทั้งๆที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

                น่าเสียดายที่คนฆ่าตัวตายคิดเช่นนั้น  เพราะถ้าเขารักษาโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง  เขาจะกลับมาคิดใหม่ได้  แก้ปัญหาได้   บางคนหายแล้วสงสัยว่าตัวเองคิดมากถึงกับอยากตายได้อย่างไร

                การฆ่าตัวตายเป็นเหมือนอาการหนึ่งของโรคซึมเศร้า  เมื่อโรคหาย  ก็ไม่คิดอยากตายแต่อย่างไร

                การป้องกันการฆ่าตัวตาย  จึงทำได้  ถ้าเข้าใจเรื่องโรคซึมเศร้า  และค้นหาให้ได้ว่าใครเริ่มจะเป็นโรคนี้  อาการเของโรคซึมเศร้า  มีดังนี้ 

·        อารมณ์ไม่สนุกสนาน  ไม่ร่าเริงเหมือนเดิม  ไม่มีความสุข  เบื่อ  ท้อแท้   เครียด  หงุดหงิด  และเศร้า

·        หมดความสนใจในสิ่งต่างๆ  เบื่อสิ่งที่เคยทำแล้วสนุก  มีความสุข  ไม่อยากทำอะไร  ไม่อยากเจอใคร

·        เบื่ออาหาร  น้ำหนักลดลงมาก  (หรือบางคนกินมากเพื่อให้หายเครียด  น้ำหนักเพิ่มขึ้น)

·        นอนไม่หลับ  หลับๆตื่นๆ  หรือตื่นเร็วกว่าเดิม 2-3 ชั่วโมงแล้วไม่มีความสุข  นอนต่อไปไม่ได้ (แต่บางคนนอนมากขึ้นเนื่องจากไม่อยากทำอะไร  นอนแต่ก็ไม่หลับ)

·        เหนื่อยหน่าย  อ่อนเพลีย  ไม่มีแรง  ไม่อยากทำอะไร

·        ความคิดช้า  การเคลื่อนไหวช้า

·        สมาธิความจำเสีย  ตั้งใจทำงานไม่ได้  ลังเลตัดสินใจลำบาก

·        คิดว่าตัวเองไร้ค่า  ทำผิด  ทำไม่ดี  คิดต่อตัวเองไม่ดี

·        อยากตายและฆ่าตัวตาย

อาการของโรคมักเริ่มจากเป็นน้อยๆ  มากขึ้นช้าๆ  หรือรวดเร็ว  อาจมีหรือไม่มีสาเหตุทางจิตใจใดๆเลยก็ได้  ถ้ามีสาเหตุทางจิตใจ  มักจะเป็นความเครียดในการดำเนินชีวิต  เช่นปัญหาการเรียน การทำงาน  หรือความสูญเสียในชีวิต  ความเครียดอาจเกิดจากผลตามมาของอาการของโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน   เช่น  อาการทำให้สมาธิไม่ดี  ไม่อยากเรียน  หลบเลี่ยงปัญหา แล้วทำให้เกิดผลต่อการเรียนหรือการงานเสียไป  ทำให้เกิดความเครียดมากตามมา

        คนที่เป็นโรคซึมเศร้า มักไม่รู้ตัวว่าเป็น ไม่มาพบแพทย์  บางคนกลัวว่าการมาพบจิตแพทย์แสดงว่าเป็นโรคจิตโรคประสาท  ทำให้ขาดการช่วยเหลือ  จากการสำรวจพบว่า คนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า 100  คน  มีเพียง  10 คนเท่านั้นที่พบแพทย์และได้รับการรักษาด้วยยา

        การรักษาโรคซึมเศร้า  ไม่ยากเนื่องจากโรคนี้เกิดจากการแปรปรวนของสารสื่อนำประสาท  ที่สามารถแก้ไขได้ด้วยยารักษาโรคซึมเศร้า  ร้อยละ 80  จะดีขึ้นได้เมื่อได้รับยาร่วมกับการรักษาทางจิตใจ   เวลาหายจะเป็นปกติเหมือนเดิม

                โรคนี้พบได้บ่อยๆในสังคม  อาจเกิดกับตัวเองหรือคนใกล้ชิดก็ได้  ถ้าพบว่าตัวเองมีอาการข้างต้นหลายๆข้อ  นานหลายวันติดต่อกัน  ควรปรึกษาจิตแพทย์ที่ใกล้ที่สุด

                และถ้าสังเกตว่าคนใกล้ชิดมีอาการคล้ายๆโรคซึมเศร้า  เช่น  ซึมเฉย  เงียบ  ไม่พูดไม่จา  เฉื่อยชา  ช้า  ทำอะไรผิดไปจากเดิมมากๆ  การเรียนหรือการทำงานเสียไป    ควรห่วงใยสอบถามเขาถึงอาการของโรคซึมเศร้า  จะเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นที่ดี  คนที่ซึมเศร้าจะรู้สึกมีเพื่อน  มีที่พึ่ง  อาการซึมเศร้าจะดีขึ้น  และไม่ค่อยฆ่าตัวตาย  ถ้าเขามิได้เป็นโรคซึมเศร้าจริง  การแสดงความห่วงใยประคับประคองจิตใจที่ดี  

ถ้าเขาเป็นโรคซึมเศร้าจริง    ในตอนท้ายควรแนะนำให้เขามาปรึกษาจิตแพทย์โดยเร็ว   การรักษาอย่างรวดเร็วจะได้ผลดี   โดยเฉพาะผู้ที่มีความคิดอยากตาย  หรือคิดฆ่าตัวตาย

                คนที่กำลังคิดฆ่าตัวตายนั้น  บางทีแสดงออกเป็นพฤติกรรมให้รู้ได้  เช่น

·        บางคนเปรยๆให้คนใกล้ชิดฟัง  เช่น “รู้สึกเบื่อจัง  ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม”

·        บางคนพูดเป็นเชิงฝากฝัง  สั่งเสีย  เช่น  “ฝากดูแลลูกด้วยนะ”

·        บางคนดำเนินการบางอย่าง  เช่น  ทำพินัยกรรม โอนทรัพย์สมบัติให้ลูกหลาน

                ถ้าสงสัยว่าจะคิดฆ่าตัวตายหรือไม่  ควรถาม

การถามเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ  เพราะจะช่วยรักษาชีวิตเขาไว้ได้

การถามเรื่องฆ่าตัวตาย  ทำได้โดยใช้ชุดคำถามขั้นบันไดดังนี้

1.      เมื่อพบว่ามีอารมณ์ซึมเศร้า  ให้ถามต่อไปว่า  “ความเศร้านั้นมากจนทำให้เบื่อชีวิต หรือไม่”

2.      ถ้าตอบรับ  ให้ถามต่อไปว่า “คิดอยากตาย  หรือไม่”

3.      ถ้าตอบรับ  ให้ถามต่อไปว่า “คิดจะทำหรือไม่”

4.      ถ้าตอบรับ  ให้ถามต่อไปว่า “คิดจะทำอย่างไร”

5.      ถ้าตอบรับ  ให้ถามต่อไปว่า “เคยทำหรือไม่”

6.      ถ้าตอบรับ  ให้ถามต่อไปว่า “เคยทำอย่างไร”

7.      สุดท้าย  ให้ถามต่อไปว่า “มีอะไรยับยั้งใจ จนทำให้ไม่ได้ทำ”

คำถามสุดท้าย  ไม่ว่าจะตอบอย่างไร  จะเป็นปัจจัยทางบวกที่ช่วยให้เขายั้งคิด  ไม่ทำในครั้งต่อไปเช่นกัน

บางคนมีความเชื่อผิดๆว่า  การถามเรื่องการฆ่าตัวตาย  จะไปกระตุ้นคนที่ยังไม่คิดไปคิดฆ่าตัวตาย  หรือคนที่คิดอยากตายอยู่แล้วจะเป็นการกระตุ้นให้ทำ  ความเชื่อเหล่านี้ไม่เป็นความจริง 

ความจริงคือ  การถามไม่ได้ชักจูงหรือกระตุ้นให้ทำ  คนที่คิดจะทำอยู่แล้วจะรู้สึกดีขึ้น จนไม่ทำจริง

เราทุกคนมีส่วนร่วมในการป้องกันการฆ่าตัวตาย  ได้ดังนี้

·        การสนใจ  ใส่ใจ  สังเกตตนเองและเพื่อนๆ  ว่ามีอาการของโรคซึมเศร้า  หรือไม่  มีความคิดฆ่าตัวตายหรือไม่

·        ถ้าเกิดโรคซึมเศร้า  ให้มาพบจิตแพทย์โดยเร็ว  หรือแนะนำผู้ที่ซึมเศร้ามาพบจิตแพทย์

<ห้องรับแขก

  คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล  เขตดุสิต  กทม 10300  โทร. 0-2243-2142  0-2668-9435

   ส่งเมล์ถึง panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
   ปรับปรุงแก้ไขครั้งล่าสุด:21/05/50