บริษัทคลินิคจิต-ประสาท |
|
ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม การฝึกการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ Progressive Muscle Relaxation Training ผศ.นพ.พนม เกตุมาน สถานที่ นั่งบนเก้าอี้ ห้อยขาตามสบาย ห้องควรเป็นห้องส่วนตัว ปราศจากการรบกวนจากคนอื่น แสง เสียง และไม่ร้อนมากเวลา ก่อนนอน หรือ เวลาว่าง ประมาณ 20-30 นาที การแต่งตัว เสื้อผ้าตามสบาย ไม่คับจนเกินไป ท่านั่ง นั่งตามสบาย ห้อยขาไม่ไขว้กัน ทุกส่วนของร่างกายผ่อนคลาย ทิ้งน้ำหนักเต็มที่ ไม่พิงพนักเก้าอี้ มือวางบนต้นขา หายใจเข้า-ออก ช้า ๆ ลึก ๆการเตรียมตัว พยายามทำตัวให้สบายที่สุด หลับตา และไม่คิดถึงเรื่องอื่นใดนอกจากการคลาย-เกร็ง กล้ามเนื้อมัดต่าง ๆ สลับกัน ตั้งแต่ศีรษะ ถึงปลายเท้า หายใจเข้าช้าๆ ให้ลึกที่สุด แล้วกลั้นไว้ประมาณ 5 วินาที ค่อย ๆผ่อนคลายออกช้า ๆ จนหมด นึกถึงการเคลื่อนไหวของทรวงอกที่ขยายออก และหดตัวเข้ามาเท่านั้น ทำช้า ๆประมาณ 2-3 ครั้ง จนใจสงบ ไม่วอกแวกไปคิดถึงเรื่องอื่น บริเวณใบหน้า1. เพ่งความสนใจมาที่กล้ามเนื้อรอบนัยน์ตาทั้งสองข้าง ค่อย ๆ เกร็งกล้ามเนื้อรอบตาช้า ๆจนรู้สึกแน่นเต็มที่ใช้เวลาประมาณ 10 วินาที แล้วเกร็งไว้อย่างนั้นประมาณ 10 วินาที ค่อยคลายออกจนผ่อนคลายเต็มที่ใช้เวลาอีกประมาณ 10 วินาที เพ่งความสนใจเฉพาะกล้ามเนื้อและความรู้สึกเกร็งหรือคลายของกล้ามเนื้อเท่านั้น2. เลิกคิ้วขึ้น จนรู้สึกหน้าผากย่นเกร็งเต็มที่ แล้วค่อย ๆคลายออก ใช้เวลาในการเกร็ง, ในการเกร็งค้าง, และเวลาคลายกล้ามเนื้อ อย่างละประมาณ 10 วินาที 3. อ้าปากให้กว้างที่สุด ค้างไว้ ค่อย ๆ คลายจนหุบเหมือนเดิม 4. เม้มริมฝีปากให้แน่น ค้างไว้ แล้วค่อย ๆ คลาย 5. กัดฟันแน่น คลาย 6.แลบลิ้นออกให้ยาวที่สุด - คลาย ค่อยหดลิ้นเข้าปาก 7. ยิงฟัน คลาย 8. เอนศีรษะไปข้างหลัง จนรู้สึกตัว คลาย กลับมาท่าเดิม 9. ก้มศีรษะมาข้างหน้า จนคางชิดอก - คลาย 10. หันศีรษะไปทางซ้าย - คลาย 11. หันศีรษะไปทางขวา - คลาย 12. ยกไหล่ข้างซ้ายให้สูง - คลาย เปลี่ยนมาไหล่ขวาทำเหมือนกัน 13. ดันไหล่ทั้งสองไปข้างหลัง คลาย 14. ดันไหล่ทั้งสองข้างไปข้างหน้า - คลาย บริเวณแขน15. งอข้อศอกซ้าย เหมือนเบ่งกล้าม คลาย, เปลี่ยนมาข้างขวา16. เหยียดข้อศอกซ้าย จนแขนเหยียดตรง - คลาย17. กำมือซ้าย แน่น คลาย, เปลี่ยนเป็นมือขวา18. เหยียดนิ้วของมือข้างซ้าย แยกนิ้วจากกันให้มากที่สุด แน่น คลาย,เปลี่ยนเป็นนิ้วมือขวาบริเวณลำตัว19. เกร็งกล้ามเนื้อหลัง จนหลังแอ่นที่สุด คลาย20. เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง จนเกร็งแข็งมากที่สุด คลายบริเวณสะโพก ขา และ เท้า21. ยกขาขึ้นจากพื้น งอเข่าเล็กน้อย จนต้นขาใกล้หน้าอกที่สุด คลาย เริ่มจากข้างซ้ายแล้วเปลี่ยนเป็นข้างขวา22. งอเข่าให้แน่นที่สุด คลาย สลับซ้าย ขวา23. กระดกปลายเท้าขึ้นข้างบน คลาย สลับซ้าย ขวา24. กระดกปลายเท้าขึ้นข้างบน คลาย สลับซ้าย ขวา25. เหยียดปลายเท้า คลาย สลับซ้าย ขวา26. กดส้นเท้าลงกับพื้น คลาย สลับซ้าย ขวา27. กดปลายเท้าลงกับพื้น คลาย สลับซ้าย ขวาข้อสังเกตในการฝึก 1. การเกร็งกล้ามเนื้อทุกส่วน ใช้เวลาประมาณ 10 วินาที เริ่มจากเบาสุด แน่นสุด การค้างเกร็งกล้ามเนื้อ ใช้เวลาประมาณ 10 วินาที การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ก็ใช้เวลาประมาณ 10 วินาที เช่นกันเหมือนกันในกล้ามเนื้อทุกส่วน 2. ขณะค่อยเกร็ง ให้เพ่งความรู้สึกถึงการเกร็งของกล้ามเนื้อขณะเกร็งค้างไว้ ให้เพ่งความรู้สึกถึงความเจ็บปวด ตึง ของกล้ามเนื้อนั้น ขณะคลาย ให้เพ่งความรู้สึกถึงสบาย เบา ผ่อนคลายของกล้ามเนื้อนั้นเช่นกัน พยายามแยกความรู้สึกที่แตกต่างของความตึงเครียด ความเจ็บปวด และผ่อนคลายของกล้ามเนื้อ 3. ขณะเกร็ง คลาย ผ่อนลมหายใจตามปกติ 4. ถ้าขณะกำลังฝึกอยู่ จิตใจวอกแวกไปถึงเรื่องอื่น รีบดึงจิตใจกลับมาสนใจที่เดิมไม่ต้องท้อแท้ เพราะผู้ที่ฝึกใหม่ ๆ ยังอาจเสียสมาธิได้ง่าย เมื่อฝึกไปนาน ๆจะทำได้คล่องแคล่ว ไม่เสียสมาธิ 5. ควรทำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่มีปัญหาทางจิตใจหรืออารมณ์ วันละ 1-2 ครั้ง 6.ในชีวิตประจำวัน ควรฝึกหัดพิจารณาความตึงหรือเกร็งของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆของร่างกาย และสังเกตความสัมพันธ์ของความรู้สึกตึงของกล้ามเนื้อนั้นกับความเครียดของจิตใจ ประโยชน์ที่จะได้ 1. ลดความเครียดและความกังวลทางจิตใจ 2. ลดอาการปวดเมื่อย ตึงเครียดของกล้ามเนื้อ 3. จิตใจสงบ แจ่มใส 4. ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานกลับเป็นปกติ 5. นอนหลับได้ดี 6. เป็นพื้นฐานสำหรับการฝึกสติและสมาธิ ..
|
คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กทม 10300 โทร. 0-2243-2142 0-2668-9435
ส่งเมล์ถึง
panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
|