บริษัทคลินิคจิต-ประสาท

 ห้องรับแขก

กลับไป ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม      

 

 

ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม

การสอนเพศศึกษา – ครอบครัวศึกษาในวัยรุ่น

Family Life Education for Adolescence

นพ. พนม เกตุมาน

            วัยรุ่นจะมีความแตกต่างจากเด็กโตหลายประการ พัฒนาของวัยรุ่นจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และหลายด้านพร้อม ๆ กัน ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม วัยรุ่นต้องปรับตัวอย่างมาก เพื่อให้เขาสามารถดำเนินชีวิตต่อไปอย่างเป็นสุข และพัฒนาตนเองเป็นผู้มีบุคลิกภาพที่ดี มีวิชาชีพเหมาะสมกับตนพร้อมที่จะดำเนินชีวิตครอบครัวต่อไปได้อย่างปลอดภัย   การจัดการเรียนรู้ในวัยรุ่น มีความแตกต่างบางประการ ซึ่งต้องการความเข้าใจในจิตวิทยาของวัยรุ่น ลักษณะพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมจะแตกต่างจากวัยเด็กอย่างชัดเจน ถ้าวัยรุ่นเรียนรู้ไปอย่างไรแล้ว มักจะเกิดพฤติกรรมติดตัว กลายเป็นนิสัย และบุคลิกภาพซึ่งจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ยากในภายหลัง วัยนี้จึงควรมีการเรียนรู้อย่างถูกต้องก่อนที่วันรุ่นจะไปเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างผิด ๆ และกลายเป็นพฤติกรรมทีเป็นปัญหาต่อไป เช่น ปัญหายาเสพติด หรือ ปัญหาทางเพศ

 พัฒนาการของวัยรุ่น

            วัยรุ่นยังจัดเป็นส่วนหนึ่งวัยเด็ก เนื่องจากยังมีพัฒนาการอีกมากมายเกิดขึ้นจนกว่าวัยรุ่นจะพัฒนาเป็นบุคลิกภาพเต็มที่ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ในระหว่างวัย 12 – 18 ปีนี้ วัยรุ่นจะมีพัฒนาการไปทางด้านต่าง ๆ ดังนี้

1. พัฒนาการทางร่างกาย

ร่างกายจะเติบโตสูงใหญ่ แขน – ขายาวขึ้นโดยเริ่มตั้งแต่ก่อนวัยรุ่นประมาณ 2 – 3 ปี เพศหญิงจะเร็วกว่าเพศชาย

วัยรุ่นชาย จะเป็นหนุ่ม คือ นมขึ้นพาน เสียงแตก มีหนวดเคราขึ้น และเริ่มมีฝันเปียก

วัยรุ่นหญิงจะเป็นสาว คือ มีเต้านม สะโพกผายมีทรวดทรง และมีประจำเดือนครั้งแรก

ทั้งสองเพศ จะมีสิวขึ้น มีกลิ่นตัว มีการเปลี่ยนแปลงในอวัยวะเพศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้เกิดจากฮอร์โมนเพศ และฮอร์โมนการเจริญเติบโตภายในร่างกาย

            2. พัฒนาการทางจิตใจ

                 วัยนี้สติปัญญาจะพัฒนาสูงขึ้น จนมีความคิดเป็นแบบ “นามธรรม” มีการใช้เหตุผล วิเคราะห์  สงเคราะห์และความคิดริเริ่มมากขึ้น สามารถเข้าใจเหตุการณ์ ความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมได้ลึกซึ้ง มีความคิดเป็นของตนเอง เกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเองได้มาก ต้องการเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น และต้องการให้คนอื่นมองเห็นคุณค่าของตนเอง พอใจกับความรู้สึกต่อตนเองในด้านบวก มีการพิจารณาตนเองได้บ้าง แต่บางครั้งก็ยังเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางอยู่ มีการควบคุมความคิด ความรู้สึก และอารมณ์ได้มากขึ้น ต้องการเป็นอิสระ อยากรู้อยากเห็นอยากลอง อยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ชอบความตื่นเต้นสนุกสนาน รู้จักมีมโนธรรม จริยธรรม รู้จักกาลเทศะ รู้จักผิดชอบชั่วดี และมีความคิดเป็นอุดมคติ

     วัยนี้ต้องการพัฒนาเพื่อหาความเป็นตัวของตัวเอง หรือเอกลักษณ์ (identity)

     อารมณ์ในวัยรุ่นจะเปลี่ยนแปลงง่าย มีทั้งอารมณ์เครียดวิตกกังวล หรืออารมณ์ซึมเศร้า

3. พัฒนาการทางสังคม  

วัยนี้จะเริ่มห่างพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ ไปสนิทสนมกลุ่มเพื่อน และใช้เวลากับเพื่อนมาก เพื่อหาเอกลักษณ์ตนเอง  แสวงหาการยอมรับจากผู้อื่น ฝึกทักษะสังคม และสนุกสนานกับสังคมเพื่อน

                วัยรุ่นอาจมองพ่อแม่ไม่ดี เหมือนตอนเมื่อเขายังเด็ก อาจพูดถึงความบกพร่องของพ่อแม่หรือครูอาจารย์ และแสดงออกอย่างไม่สุภาพเรียบร้อย

                วัยรุ่นจะเรียนรู้พฤติกรรมจากเพื่อน ๆ อย่างมาก เกิดเป็นค่านิยม ทัศนคติ แนวปฏิบัติจนเกิดเป็นนิสัยหรือพฤติกรรมใหม่ ๆ ขึ้นได้มากมาย

                พัฒนาการทางเพศ  จะแสดงออกเป็น เอกลักษณ์ทางเพศ  และความสนใจทางเพศ ซึ่งเกิดจากอารมณ์เพศ ในวัยนี้บางคนจะมีมากและควบคุมได้น้อย เกิดเป็นปัญหาทางเพศขึ้นได้

 ปัญหาทางเพศในวัยรุ่น

            ในปัจจุบันพบว่าวัยรุ่นเกิดปัญหาทางเพศขึ้นมาก เนื่องจากสภาพสังคมสิ่งแวดล้อม มีการกระตุ้นยั่วยุในเรื่องเพศอย่างมาก วัยรุ่นส่วนใหญ่จะได้ข้อมูลจากสื่อที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิดพฤติกรรมทางเพศที่เป็นปัญหาดังนี้

1.       การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง

2.       การมีเพื่อนต่างเพศอย่างไม่เหมาะสมในวัยเรียน

3.       การมีเพศสัมพันธ์กันในวัยรุ่น

4.       การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

5.       การทำแท้ง

6.       การมีเพศสัมพันธ์กับหญิงบริการทางเพศ

7.       การเกิดโรคติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์

8.       การแต่งงานในวัยรุ่น

9.       การมีบุตรในวัยรุ่น

10.   การมีปัญหาครอบครัวในวัยรุ่น

การเรียนรู้ในวัยรุ่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศและครอบครัว

            วัยรุ่นเป็นวัยที่เหมาะสมในการเรียนรู้เรื่องเพศและครอบครัว เนื่องจากมีความพร้อมทางด้านจิตใจมีความอยากรู้อยากเห็นเรื่องนี้ มีความพร้อมทางร่างกาย เนื่องจากเขาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตนเอง และมีความพร้อมทางสังคม เนื่องจากเขาได้มีโอกาสพบปะมีปฏิสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามตามปกติอยู่แล้ว

            การเรียนรู้เรื่องเพศและครอบครัว มีเนื้อหาที่วัยรุ่นควรเรียนรู้ ดังนี้.-

1.       การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และจิตใจสังคมในวัยรุ่น

2.       การคบเพื่อนต่างเพศ

3.       การเลือกคบแฟน

4.       การเลือกคู่ครอง

5.       การแต่งงานและชีวิตครอบครัว

6.       เพศสัมพันธ์และปฏิกิริยาตอบสนองทางเพศ

7.       การวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิด

8.       การตั้งครรภ์

9.       การแท้งบุตร

10.   การคลอดบุตร

11.   โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

12.   ความผิดปกติทางเพศที่พบได้บ่อย

13.   รักร่วมเพศ

14.   การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง

15.   การป้องกันปัญหาทางเพศในวัยรุ่นสำหรับตนเอง

ปัจจัยส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องเพศและครอบครัวในวัยรุ่น

            ในการเรียนรู้เรื่องเพศและครอบครัวในวัยรุ่น ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีมีดังนี้

1. ผู้สอน ผู้สอนที่ดีมีลักษณะ ดังนี้.-

   1.1. ทัศนคติดี ผู้สอนควรต้องมีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องเพศ ไม่มองเป็นเรื่องสกปรกน่าอายเปิดใจกว้าง ยอมรับในพฤติกรรมทางเพศได้มาก แต่ก็มีขอบเขตตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดี มองเด็กนักเรียนในทางที่ดี มองโลกใน

แง่ดี และมีทัศนคติต่อการสอนเรื่องเพศ ไม่ได้มองว่าเป็นการยั่วยุให้เด็กมีพฤติกรรมทางเพศมากขึ้น

                    1.2   มีความรู้เรื่องเพศและครอบครัว  ผู้สอนควรมีความไผ่รู้ในเรื่องต่าง ๆ มีโลกทัศน์กว้าง มีแหล่งข้อมูลข่าวสาร และที่ปรึกษาด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์ เพื่อสามารถกำหนดเนื้อหาของการเรียนการสอน และถ่ายทอดข้อมูลต่าง ๆ ได้ตามวัตถุประสงค์

                    1.3  มีทักษะในการสอน  ทักษะการสอนเรื่องเพศและครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะจะต้องครอบคลุมการสอนทั้งในด้านเจตคติ (Affective domain) , ด้านความรู้ (Cognitive domain) และด้านทักษะ (Psychomotor domain)

         ผู้สอนต้องรู้จักการเตรียมความพร้อมแก่ผู้เรียน กระตุ้นให้วัยรุ่นอยากรู้ตั้งแต่ก่อนเข้าเรียน กระตุ้นให้วัยรุ่นพร้อมที่จะเรียนในห้อง

         ผู้สอนควรมีทักษะในการสอนแบบกลุ่มย่อย , กลุ่มใหญ่ และสอนหรือให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล (Group and individual counselling)

         ผู้สอนควรมีทักษะในการกระตุ้น ให้นักเรียนแสดงออก ซักถาม แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น เรียนรู้ร่วมกัน สร้างค่านิยมใหม่ที่ถูกต้อง นักเรียนควรมีโอกาสมีส่วนร่วมอย่างมาก เนื่องจากวัยรุ่นมักจะเรียนรู้จากเพื่อนด้วยกันเอง

          ผู้สอนควรแยกแยะเนื้อหา และปัญหาที่จะสอนเป็นรายกลุ่ม หรือรายบุคคล รู้จักจัดกระบวนการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับเนื้อหา วัตถุประสงค์ และวัยของเด็ก

          ผู้สอนควรมีทักษะในการสื่อความหมายให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง เข้าใจได้ง่าย

          ผู้สอนควรเปิดโอกาสให้มีการซักถามในระยะท้ายของการสอนด้วยเสมอ เพื่อจะได้มีโอกาสตอบข้อสงสัยให้กระจ่าง

               1.4 เป็นแบบอย่างที่ดี  (role model) ผู้สอนควรเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งในการสอนและการดำเนินชีวิตจริง เด็กจะเกิดการเลียนแบบ (identification) ความประพฤติของผู้สอนโดยไม่รู้ตัว

                                    ผู้สอนที่ดี อาจเป็นครูอาจารย์ , พ่อแม่ , ญาติสนิท ซึ่งวัยรุ่นมีความสำคัญอยู่แล้ว

2. ผู้เรียน

    ผู้เรียนอาจมีวัยแตกต่างกันตั้งแต่วัยรุ่นตอนต้นถึงวัยรุ่นตอนปลาย ทำให้ความพร้อมในการรับรู้แตกต่างกันด้วย เช่น

           วัยรุ่นตอนต้น 12 – 14 ปี มีความพร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจในวัยรุ่น การคบเพื่อนต่างเพศ ความผิดปกติทางเพศที่พบได้บ่อย รักร่วมเพศ และการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง 

วัยรุ่นตอนกลาง 14 – 16 ปี มีความพร้อมที่จะเรียนรู้เรื่อง การเลือกคบแฟน การเลือกคู่ครอง การแต่งงานและชีวิตครอบครัว เพศสัมพันธ์และปฏิกิริยาตอบสนองทางเพศ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์และการแท้งบุตร การคุมกำเนิด    วัยรุ่นตอนปลาย 16 – 18 ปี มีความพร้อมที่จะเรียนรู้เรื่อง การวางแผนครอบครัว การคลอดบุตร การป้องกันปัญหาทางเพศ

จะเห็นว่า เนื้อหาส่วนใหญ่จะสอดคล้องกับวัยของเด็กวัยรุ่น นั่นคือเด็กจะเรียนรู้ก่อนจะเกิดปัญหา  และ  สามารถป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้

            ผู้เรียนอาจจะมีความอยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศแตกต่างกัน บางคนอยากรู้มาก บางคนอยากรู้น้อย บางคนทำเป็นไม่อยากรู้ แต่ส่วนมากทุกคนจะอยากรู้ และไม่ค่อยกล้าแสดงออกว่าอยากรู้

            วัยรุ่นที่เป็นหนุ่มสาวเร็วจะมีความสนใจมากกว่าเด็กที่ยังไม่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น

            วัยรุ่นที่กล้าพูดกล้าแสดงออก กล้าถามจะเป็นผู้กระตุ้นให้เด็กที่ไม่กล้าถามได้แสดงออกมากขึ้น การเรียนเป็นกลุ่มจึงมีบรรยากาศที่กระตุ้นได้ดี

-          กลุ่มที่วัยเดียวกัน จะแสดงออกได้ดีกว่ากลุ่มต่างวัย

-          กลุ่มต่างวัยจะมีความหลากหลายของความคิดเห็น เกิดการเรียนรู้ได้กว้างขวางกว่ากลุ่มวัยเดียวกัน

-          กลุ่มเพศเดียวกัน จะแสดงออกเปิดเผยกว่ากลุ่มคละเพศ

-          กลุ่มคละเพศ จะได้เรียนรู้ความแตกต่างของเพศได้ดีกว่ากลุ่มเพศเดียวกัน และมีโอกาสฝึกทักษะสังคมระหว่างเพื่อน ทำงานได้ดีขึ้น

 3. สื่อการสอน

               จากพื้นฐานจิตวิทยาในการเรียนรู้ในวัยรุ่น สื่อการสอนที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี ควรมีลักษณะดังนี้

1.   ตื่นเต้นสนุกสนานเร้าใจท้าทาย  ชวนคิด  ชวนให้มีส่วนร่วม ให้วัยรุ่นได้กระทำด้วยตนเอง

2.   นำเสนอโดยบุคคลซึ่งวัยรุ่นชื่นชม ชื่นชอบ เช่น ดารา นักร้อง นักแสดง นักกีฬา ซึ่งมีชีวิตเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นตัวอย่างให้เลียนแบบได้ดี

3.   มีการกระตุ้นประสาทสัมผัสหลายด้าน เช่น ทั้งทางประสาทตา – ประสาทหู – ประสาทสัมผัส ชวนให้คิดหรือจินตนาการ

4.   มีการสื่อสารสองทาง (interactive) คือสามารถตอบสนองต่อการแสดงความคิดเห็น คำถาม หรือ คำตอบชวนให้นักศึกษาด้วยตนเอง

5.   กระตุ้นให้คิดและตัดสินใจด้วยตนเอง มากกว่าการบังคับยัดเยียดให้วัยรุ่นยอมรับ

6.  มีข้อมูลเพิ่มเติมที่สามารถค้นหาได้ง่ายด้วยตนเอง (references)

สื่อที่ดีจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และกระบวนการเรียนการสอน โดยอาจทำให้มีความหลากหลาย เช่น หนังสือ แผ่นผับ โปสเตอร์ เทปวิทยุ  เทปโทรทัศน์ เป็นต้น

4.  การจัดการเรียนการสอน  (Learning process)

ผู้สอนควรจัดการเรียนการสอนโดยมีหลัก ดังนี้

1.       สนุก

2.       ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากที่สุด

3.       เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน

4.       มีการสื่อสารได้สองทาง ผู้สอนถ่ายทอดข้อมูล ผู้เรียนตอบสนองให้เห็นด้วย

5.       มีโอกาสให้ผู้เรียนซักถาม

การวัดผล (Evaluation)

            การวัดผลทางการศึกษาในเรื่องเพศและครอบครัว สามารถกระทำได้โดย

1.  การสังเกตพฤติกรรมผู้เรียน

- ความสนใจใฝ่รู้

- ทัศนคติเดิมและการเปลี่ยนแปลง

- ความรู้เดิม

- การแก้ไขปัญหาเดิม ด้วยวิธีการใหม่ที่ดีกว่า

   2.   การสอบถามขณะจัดการเรียนการสอน และตอนท้ายการสอน

-  เรื่องความรู้

- เรื่องทัศนคติ

- การให้ผู้เรียนทดลองปฏิบัติ

3.   การสอบข้อเขียนปลายภาคการศึกษา

- เรื่องความรู้

- ทัศนคติ

 ผศ.นพ.พนม  เกตุมาน

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม

<ห้องรับแขก

  คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล  เขตดุสิต  กทม 10300  โทร. 0-2243-2142  0-2668-9435

   ส่งเมล์ถึง panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
   ปรับปรุงแก้ไขครั้งล่าสุด:21/05/50