บริษัทคลินิคจิต-ประสาท |
|
ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม โรคอารมณ์แปรปรวน โรคแมเนีย-ซึมเศร้า (Bipolar disorder or Manic-depressive disorder) นายแพทย์ฐานันดร์ ปิยะศิริศิลป์ คำจำกัดความ ลักษณะสำคัญของโรคนี้ คือ ผู้ป่วยมีความผิดปกติของอารมณ์เป็นอาการสำคัญ โดยอารมณ์ที่ผิดปกตินั้นอาจเป็นอารมณ์เศร้าหรืออารมณ์รื่นเริงสนุกสนานผิดปกติ ร่วมกับอาการอื่นของโรคซึมเศร้า หรือโรคแมเนียโดยไม่มีโรคทางกาย โรคของสมอง หรือพิษจากยาเป็นสาเหตุของอาการดังกล่าว โรคอารมณ์แปรปรวน แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 1. Depressive Disorders มีอารมณ์เศร้าเป็นอาการหลักร่วมกับอาการอื่น ๆ 2. Bipolar Disorders มีอารมณ์สนุกสนานแบบ Mania เป็นอาการหลัก และมักมีหรือเคยมีอาการของโรคซึมเศร้า อาการ โรคซึมเศร้า มีอาการสำคัญ ๆ ดังนี้ ² อารมณ์เศร้า ผู้ป่วยรู้สึกใจคอหดหู่ เศร้าหมอง ไม่มีชีวิตชีวา รู้สึกไม่แจ่มใส อารมณ์เศร้านี้จะเป็นติดต่อกันหลายวันถึงเป็นสัปดาห์ ² อารมณ์หงุดหงิดโกรธง่าย ผู้ป่วยรู้สึกหงุดหงิดง่ายโดยไม่มีสาเหตุชัดเจนบ่อย ๆ ² ความรู้สึกเบื่อและหมดความสนใจ ผู้ป่วยรู้สึกเบื่อและหมดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ ที่เคยทำให้รู้สึกดี เช่น ไม่อยากดู TV ไม่อยากไปดูภาพยนตร์ ไม่อยากคุยกับเพื่อนหรือญาติ ไม่อยากไปเที่ยว เป็นต้น ² อาการเบื่ออาหาร ผู้ป่วยรู้สึกเบื่อ ไม่รู้สึกอยากอาหาร กินอาหารน้อยลงจนน้ำหนักลด ² นอนไม่หลับ ระยะแรกอาจจะหลับยาก นอนหลับไม่สนิท ฝันร้าย หรือตื่นบ่อย เมื่อเป็นมากขึ้น อาจตื่นกลางดึก ตีหนึ่ง ตีสอง หรือตื่นเช้ามืด หลับต่อไม่ได้ เป็นทุกคืน ² อาการอ่อนเพลีย ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย โดยไม่มีสาเหตุทางร่างกายชัดเจน ² ความคิดเชื่องช้า การเคลื่อนไหวตลอดจนการพูดจาเชื่องช้าลง รู้สึกไม่กระตือรือร้น ต้องฝืนใจทำสิ่งต่าง ๆ เช่น การพูด การแต่งตัว การทำงาน เป็นต้น ² สมาธิเสีย ความจำไม่ดีและลืมง่ายเป็นอาการสำคัญ อ่านหนังสือแล้วจำไม่ได้ ไม่มีสมาธิในการทำงาน ² ความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ผู้ป่วยรู้สึกตัวเองไม่มีค่า หรือหมดความสำคัญต่อครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ² ความคิดอยากตาย เมื่อเศร้ามาก ๆ ผู้ป่วยจะคิดอยากตายและพยายามฆ่าตัวตาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจฆ่าตัวตายสำเร็จ
โรค Bipolar Disorder ระยะ Mania Episode มีอาการดังนี้ ² มีอารมณ์รื่นเริงสนุกสนานผิดปกติ หรือมีอารมณ์หงุดหงิดโกรธง่าย อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ² อาการนอนไม่หลับ อาจหลับยาก ตื่นบ่อย หรือนอนไม่หลับเลย ผู้ป่วยจะลุกขึ้นมาทำงานต่าง ๆ วุ่นวาย โดยไม่รู้สึกอ่อนเพลีย ² มีอาการพูดมาก พูดเร็วและส่งเสียงดัง ² ไม่มีสมาธิ สิ่งกระตุ้นจากภายนอกจะเบนความคิดให้ออกนอกเรื่องได้ง่าย ² มีการเคลื่อนไหวและมีกิจกรรมมากผิดปกติ ผู้ป่วยจะพูดคุยกับคนทั่วไปแม้ไม่รู้จักกัน ชอบออกนอกบ้านไปพบเพื่อนหรือญาติพี่น้องบ่อยผิดปกติ ² ความคิดเปลี่ยนเรื่องเร็ว ผู้ป่วยมีความคิดหลาย ๆ เรื่อง เกิดขึ้นรวดเร็ว และแสดงออกโดยการพูดมากและเร็ว ² มีอารมณ์ทางเพศเพิ่มขึ้นผิดปกติ ² การตัดสินใจไม่ดี เช่น ใช้เงินเปลืองและซื้อของมากผิดปกติ ลงทุนในกิจการต่าง ๆ อย่างไร้เหตุผล ² รู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญมากผิดปกติ มีความสามารถพิเศษ ร่ำรวยมาก ทั้งที่ไม่เป็นความจริง ² ถ้าอาการมาก อาจมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอนร่วมด้วย การดำเนินของโรค ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการประมาณ 6 - 9 เดือน เมื่ออาการของโรคสงบลง มักจะสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่จะมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก จึงอาจต้องใช้ยาทางจิตเวชควบคุมอาการ เพื่อไม่ให้เป็นซ้ำ การรักษา ยาทางจิตเวช มีความสำคัญมากในการรักษาโรคกลุ่มนี้ ปัจจุบันมียารักษาอารมณ์เศร้าหลายชนิดที่ให้ผลการรักษาดี รวมทั้งยาควบคุมอารมณ์แปรปรวนในการรักษาผู้ป่วย Bipolar Disorder ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องรักษาด้วยยาประมาณ 6 - 9 เดือน จิตบำบัดและครอบครัวบำบัด ตามสภาพปัญหาส่วนตัวและครอบครัวของผู้ป่วย เอกสารอ้างอิง w สมภพ เรืองตระกูล, ตำราจิตเวชศาสตร์ กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์เรือนแก้ว, 2542 w มาโนช หล่อตระกูล, ปราโมทย์ สุคนิชย์, จิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี กรุงเทพมหานคร : สวิชาญการพิมพ์, 2544 |
คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กทม 10300 โทร. 0-2243-2142 0-2668-9435
ส่งเมล์ถึง
panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
|