บริษัทคลินิคจิต-ประสาท |
|
ความรู้เรื่องโรคทางจิตเวชและปัญหาพฤติกรรม ปัญหานอนไม่หลับ (Insomnia) รศ.พ.ญ.ศิริรัตน์ คุปติวุฒิ อาการนอนไม่หลับ เป็นอาการอย่างหนึ่งที่พบได้ในโรคทางกายหลายชนิด โรคทางจิตเวชหลายโรค หรือ อาจมีสาเหตุจากยาบางชนิด จากสารบางอย่างที่ออกฤทธิ์กระตุ้นสมอง เช่น สารคาเฟอีนที่มีอยู่ในชา กาแฟ น้ำอัดลมที่มีสีดำ (เช่น โคล่า เป๊ปซี่) เครื่องดื่มชูกำลังหลายยี่ห้อ นอกจากนี้การดื่มสุราอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานก็จะทำให้นอนไม่หลับ อาการ อาการนอนไม่หลับมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ เข้านอนแล้วหลับยาก หรือ ตื่นกลางดึกแล้วหลับต่อไม่ได้ หรือ ตื่นเช้ามืดกว่าปกติแล้วหลับต่อไม่ได้ หรือ หลับ ๆ ตื่น ๆ ทั้ง ผู้ที่นอนไม่หลับหรือหลับได้ไม่เพียงพอ มักจะมีอาการอ่อนเพลียในตอนกลางวัน สมองไม่ปลอดโปร่ง อาจหงุดหงิด อาจง่วงซึม หรือหลับมากในตอนกลางวัน ประสิทธิภาพในการเรียน ในการทำงานมักจะลดลง นอกจากนี้อาจมีอาการของโรคต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของอาการนอนไม่หลับด้วย เช่น ตอนกลางคืนนอนกรนเสียงดัง หรืออาจหยุดหายใจเป็นพัก ๆ หรืออาจมีอาการของโรคซึมเศร้า คือรู้สึกซึม เศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ หดหู่ เบื่ออาหาร เบื่อชีวิต คิดอยากตาย การดำเนินของโรค ขึ้นกับโรคที่เป็นสาเหตุ หรือขึ้นกับสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ ซึ่งมีโรคหลากหลายชนิด การดำเนินโรคของแต่ละโรคจึงแตกต่างกันออกไป การรักษาอาการนอนไม่หลับ 1. เริ่มแรก ต้องค้นหาสาเหตุ และกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับก่อน ถ้าเจ็บป่วยด้วยโรคทางกาย หรือโรคทางจิตเวช ก็ต้องรักษาโรคเหล่านั้นให้ดีขึ้น อาจใช้ยาช่วยให้นอนหลับในช่วงเริ่มต้น และใช้ยาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เมื่อความเจ็บป่วยทางร่างกายหรือความเจ็บป่วยทางจิตเวชดีขึ้น อาการนอนไม่หลับก็จะหมดไป และสามารถนอนหลับได้ดีขึ้น 2. ปฏิบัติตนตามสุขลักษณะการนอนที่ดี ได้แก่ ² จัดห้องนอนให้เหมาะแก่การนอนหลับ เช่น ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวหรือเย็นเกินไป ไม่ให้มีเสียงดังอึกทึก ควรมีบรรยากาศที่สงบเงียบ อาจมีเสียงเพลงเบา ๆ เป็นต้น ² ใช้ห้องนอนสำหรับการนอน และ/หรือ การหลับนอนเท่านั้น ไม่ใช้ห้องนอนทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น รับประทานอาหาร เล่นเกมส์ต่าง ๆ ² การดื่มนมอุ่น ๆ 1 แก้ว หรือ รับประทานกล้วย 1 ผล ก็อาจช่วยให้หลับได้ดีขึ้น ² หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่กระตุ้นสมอง เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลมที่มีสีดำ (เช่น เป๊ปซี่ โคล่า) เครื่องดื่มชูกำลังต่าง ๆ ในตอนบ่าย ตอนเย็น หรือช่วงก่อนนอน ² หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ซึ่งรวมถึง เหล้า เบียร์ ไวน์ อย่างต่อเนื่องทุกวัน เพราะมีสารเคมีที่ออกฤทธิ์ต่อสมองทำให้นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิทได้ในกรณีที่ดื่มติดต่อกันนาน ๆ ² หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักในตอนเย็น หรือตอนก่อนนอน ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในตอนเช้า สัปดาห์ละ 3-4 วัน วันละ 20-30 นาที จะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น และหลับได้ดีขึ้นในตอนกลางคืน ² พยายามตื่นนอนให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน รวมถึงวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดต่าง ๆ ด้วย วิธีนี้จะช่วยให้วงจรการหลับ-การตื่นของคนเราให้ทำงานได้ดี ไม่เกิดปัญหา ² หลีกเลี่ยงการดูภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ หรือเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ ที่ตื่นเต้นในช่วงก่อนเข้านอน ² ถ้าเข้านอนไปแล้วประมาณ 20-30 นาที ยังนอนไม่หลับ ไม่ควรข่มตาให้หลับ ควรจะลุกออกจากเตียงไปทำกิจกรรมเบา ๆ ที่ส่งเสริมให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น เช่น อ่านหนังสือผ่อนคลายสมอง อ่านหนังสือบันเทิง ฟังเพลงเย็น ๆ อ่านหนังสือธรรมะ ฟังเทปธรรมะ เป็นต้น 3. ยาช่วยให้นอนหลับ ควรรับประทานเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องนานเกิน 2-6 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้ติดยา หรือต้องพึ่งยาตลอดไป ยาช่วยให้นอนหลับหรือยานอนหลับ จะช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับที่เป็นแบบชั่วคราว หรือเพิ่งมีอาการมาไม่นาน เช่น ไม่เกิน 2-4 สัปดาห์ ให้นอนหลับได้ดี และช่วยให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้นเร็ว และสามารถหยุดใช้ยานอนหลับได้เร็ว การป้องกัน ² ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น วันละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 3-4 วันอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและนอนหลับได้ดี ² ควรมีกิจกรรมที่ผ่อนคลายความเครียด เช่น การท่องเที่ยวพักผ่อน การฟังเพลง การดูภาพยนตร์ เพราะความเครียดที่เกิดขึ้นมักจะทำให้นอนไม่หลับ ² หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ข้อควรระวัง ² ไม่ควรใช้ยานอนหลับต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เกิดภาวะดื้อยา ติดยา และอาจทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม หรือความจำถดถอยลงได้
|||||||||| (เอกสารอ้างอิง : ยังไม่มีหนังสือภาษาไทยทางด้านนี้โดยตรงในปัจจุบัน) |
คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กทม 10300 โทร. 0-2243-2142 0-2668-9435
ส่งเมล์ถึง
panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
|