บริษัทคลินิคจิต-ประสาท |
|
คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน นพ.พนม เกตุมาน ผู้ป่วยจิตเวชจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องที่บ้านอย่างถูกต้อง อาการทางจิตเวชบางครั้งอาจเกิดขึ้นมากเป็นบางเวลา อาจเกิดขึ้นเอง ตามธรรมชาติของโรคที่จะมีการแกว่งของอาการ หรือกลับเป็นซ้ำขึ้นมาเอง บางครั้งความเครียดหรือปัญหาในชีวิต ปัญหาครอบครัว อาจกระตุ้นให้อาการทางจิตเวชกำเริบได้ ความสงบสุขภายในบ้านจึงเป็นผลดีต่อการรักษาอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม การกำเริบของโรคทางจิตเวชเกิดขึ้นบ่อยที่สุดจากการขาดยา ผู้ป่วยมักไม่อยากกินยาเนื่องจากผลข้างเคียงของยา หรือเข้าใจผิด คิดว่าดีขึ้นแล้วน่าจะหยุดยาได้เอง ญาติผู้ป่วยควรดูแลดังนี้ ๑. ติดตามดูแล หรือกำกับให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างถูกต้อง ตรงตามที่แพทย์กำหนด อาจเป็นผู้จัดยาให้เอง หรือคอยนับเม็ดยาที่เหลือ ควรมีวิธีจูงใจให้ผู้ป่วยร่วมมือกันดีๆมากกว่าการบังคับข่มขู่กัน ๒.พาผู้ป่วยมารับการตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอ ตามนัด ถ้าผู้ป่วยไม่ยอมมาจริงๆ ญาติควรมาพบแพทย์และเล่าปัญหานี้ให้แพทย์ทราบ ๓.คอยตรวจสอบอาการข้างเคียงของยา แพทย์ผู้รักษามักจะอธิบายให้ฟังก่อนการสั่งยาครั้งแรกว่าจะมีอาการข้างเคียงอย่างไรบ้าง ถ้าเกิดอาการข้างเคียงควรรีบติดต่อแพทย์ผู้รักษาทันที อย่าทิ้งไว้เพราะจะทำให้ผู้ป่วยไม่อยากกินยา และไม่อยากรักษาอีกต่อไป ๔. สร้างบรรยากาศที่สงบ อบอุ่น มีกิจกรรมที่ดีทำร่วมกัน มีการสื่อสารที่ดี บอกความต้องการกัน และตอบสนองกันอย่างเหมาะสม ๕. ไม่ควรตามใจกันมากจนเกินไป หรือให้สิทธิพิเศษจนผู้ป่วยทำความเดือดร้อน รำคาญแก่ผู้อื่น ๖. เมื่อผู้ป่วยมีอาการทางจิตผิดปกติ เช่น ระแวง หูแว่ว ไม่ควรพยายามอธิบายเพื่อให้ผู้ป่วยยอมรับความจริง นอกจากจะไม่ได้ผลแล้วยังอาจทำให้ญาติโกรธ ที่ผู้ป่วยไม่ยอมรับฟังเหตุผล ควรรับฟังด้วยท่าทีเป็นกลาง ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย แต่ขอให้ผู้ป่วยพูดถึงสิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขารู้สึกให้มากที่สุด พร้อมกับแสดงความเข้าใจและเห็นใจที่เขาคิดและรู้สึกเช่นนั้น อาการทางจิตจะดีขึ้นจากการใช้ยา ดังนั้นต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์โดยเร็ว ๗. จดจำอาการต่างๆที่เกิดขึ้นที่บ้านมาเล่าให้แพทย์ฟัง การดำเนินชีวิตที่บ้านจะแสดงถึงความสำเร็จของการรักษาด้วย และท่านจะเป็นผู้ช่วยแพทย์ที่ดีในเรื่องนี้ ๘. จัดการดำเนินชีวิตผู้ป่วยให้สม่ำเสมอ โดยเฉพาะเวลาอาหาร เวลานอน เวลาออกกำลังกาย และเวลากินยา ๙. ควรให้ผู้ป่วยมีบทบาทในการดำเนินชีวิตตามปกติให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งความรับผิดชอบส่วนตัว และงานรับผิดชอบส่วนรวม ๑๐. หลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ตอบโต้กันภายในบ้าน เมื่อมีความขัดแย้งควรนำมาปรึกษาแพทย์
การแก้ปัญหาในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ร่วมมือมาพบแพทย์ตามนัด 1. พยายามจูงใจให้ผู้ป่วยเห็นประโยชน์ที่ชัดเจนของการมาพบแพทย์ ได้แก่ อาการที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเดือดร้อน เช่น อาการนอนไม่หลับ เป็นต้น 2. พยายามให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ 3. ถ้าผู้ป่วยไม่ยอมมาจริงๆ ให้ญาติมาพบเพื่อปรึกษาแพทย์ 4. ถ้าผู้ป่วยมีอาการมากจนอาจเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น ควรให้คนช่วยกันจับพามาโรงพยาบาล อาจต้องรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล อาจติดต่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ขอความช่วยเหลือในการนำส่งดังกล่าว
|
คลินิคจิต-ประสาท 563 ถ.สามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กทม 10300 โทร. 0-2243-2142 0-2668-9435
ส่งเมล์ถึง
panom@psyclin.co.th พร้อมด้วยข้อสงสัยหรือข้อคิดเห็นเกี่ยวกับเว็บไซท์นี้
|